รู้ไหม “รูมาตอยด์” คืออะไร
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคของข้อต่อที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อของกระดูก เมื่อข้ออักเสบเป็นเวลานานข้อจะถูกทำลาย ทำให้ข้อผิดรูปและเกิดความพิการตามมาได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคน เนื่องจากเป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ดี ทำให้เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับร่างกายจะได้รับผลกระทบมาก
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จากการศึกษาพบว่าเกิดจากผลของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากระตุ้นทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไป โดยปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- อายุ สามารถเกิดได้ทุกวัย พบได้ทั้งในวัยหนุ่มสาว และวัยสูงอายุ
- เพศ ผู้หญิงมีแนวโน้มการเป็นสูงมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า
- พันธุกรรม หากพ่อแม่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จะส่งผลให้ลูกมีความเสี่ยงเป็นโรคสูงมากกว่าคนทั่วไป
- ความอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน มีโอกาสที่จะเป็นโรครูมาตอยด์มากกว่าคนทั่วไป
- ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม การได้รับสารเคมีบางอย่าง ทำให้เกิดโรครูมาตอยด์ได้ เช่น ใยหิน และซิลิกา
- การสูบบุหรี่ นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแล้ว ยังเพิ่มความรุนแรงของโรคให้ร้ายแรงกว่าเดิมได้ด้วย
อาการของโรครูมาตอยด์ โรครูมาตอยด์จะมีอาการปวดอย่างช้าๆ อาจนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน มีอาการเหนื่อยอ่อนและเมื่อยล้า รวมไปถึงอาจมีน้ำหนักตัวลดลงและมีไข้อ่อนๆ อาการอื่นๆ ของโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่
- มีอาการปวด บวม แดง อุ่น ข้อฝืด โดยจะเกิดขึ้นพร้อมกันในร่างกาย เช่น ข้อมือ นิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก เท้า ข้อเท้า เข่า และคอ
- อาการข้อฝืดแข็ง อาจเกิดหลังจากที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว เช่น ตอนตื่นนอนในตอนเช้า หรือนั่งเป็นเวลานานๆ
- มีปุ่มเนื้อนิ่มๆ ที่มักเกิดบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อยๆ เช่น ข้อศอก ข้อนิ้วมือ กระดูกสันหลัง
ในระยะแรกผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อาจมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เริ่มปวดตามข้อหรือข้อฝืดตึง อาการปวดอาจเริ่มที่บริเวณข้อต่อเล็กๆ ก่อน เช่น ฐานนิ้วมือนิ้วเท้า และดําเนินต่อไปที่ข้อต่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่นที่แขนหรือขา ผู้ป่วยมักมีอาการข้ออักเสบสมมาตร นั่นคือมีอาการในข้อต่อเดียวกันทั้ง 2 ข้าง โดยอาจรู้สึกปวดที่ข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง อาการที่พบบ่อยคืออาการปวด ข้อยึดตึง กดเจ็บ และบวมร้อน อาการข้อยึดตึงจะเป็นมากในตอนเช้าหรือหลังจากไม่เคลื่อนไหวร่างกายมาสักระยะ และมักปวดนานกว่า 1 ชั่วโมง
ในระยะแรกของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อต่อที่อวัยวะเหล่านี้มักจะเกิดอาการก่อน
- มือ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มักทำให้เกิดอาการกดเจ็บบริเวณข้อต่อของนิ้วมือและทำให้มือไม่มีแรงหยิบจับสิ่งของ อาการนิ้วและมือผิดรูป เช่น Boutonniere ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อข้ออักเสบเป็นเวลานาน
- ข้อมือ งอข้อมือไปด้านหลังไม่ได้
- ข้อศอก ข้อที่บวมอาจไปกดทับเส้นประสาททำให้รู้สึกชาตามนิ้วมือ
- เท้า รู้สึกกดเจ็บบริเวณโคนนิ้วเท้า ทำให้ผู้ป่วยลงน้ำหนักตัวที่ส้นเท้าแทน
- ข้อเท้า เส้นประสาทที่ถูกกดทับจากการอักเสบบริเวณข้อเท้าทำให้ชาที่เท้า
- หัวเข่า งอเข่าไม่ได้ เอ็นรองหัวเข่าหลวมและกระดูกหัวเข่าอาจเสียดสีกัน ทำให้เกิดภาวะถุงน้ำหลังหัวเข่า
ในระยะต่อมาอาการจะเริ่มลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายดังต่อไปนี้
- คอ หัน ก้ม หรือเงยคอไม่ได้ มีอาการปวดศรีษะและปวดคอ
- หัวไหล่ เคลื่อนไหวไหล่ได้จำกัด
- สะโพก เดินได้ลำบากเนื่องจากอาการสะโพกอักเสบ
- ข้อต่อกระดูกอ่อนของกล่องเสียง: บางรายอาจมีอาการอักเสบของข้อต่อกระดูกอ่อนของกล่องเสียงใกล้หลอดลมทําให้หายใจลําบากและเสียงแหบ
นอกจากปัญหาข้อต่อแล้ว โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เนื่องจากการอักเสบหรือผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษา
- มวลกระดูกลดลง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- โรคผิวหนัง เช่น ปุ่มรูมาตอยด์ โดยเฉพาะในบริเวณใต้แขน ข้อศอก ท้ายทอย ฐานกระดูกสันหลัง เอ็นร้อยหวาย และเอ็นบริเวณมือ
- ดวงตาอักเสบและปัญหาด้านการมองเห็น
- หายใจถี่ ไอแห้ง เนื่องจากภาวะปอดอักเสบ
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- โรคหลอดเลือดอักเสบ
- กลุ่มอาการโจเกร็น (Sjogren’s syndrome)
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดสมองและหัวใจวาย
- ความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งผิวหนัง
- การตรวจวินิจฉัย
- การตรวจวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จำเป็นต้องอาศัยการตรวจและทดสอบหลาย ๆอย่างร่วมกัน จึงจะสามารถวินิจฉัยโรคได้
การรักษา
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังไม่มีการรักษาที่หายขาดได้แต่สามารถควบคุมโรคได้ โดยจะบรรเทาอาการเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติมากที่สุด ซึ่งทำได้โดย
- การใช้ยา ประกอบด้วยยารับประทานหรือยาฉีดสำหรับรักษาเฉพาะเจาะจงกับโรคเพื่อลดอาการอักเสบ และยาช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด หรือยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยไม่ให้ผู้ป่วยต้องปวดทรมาน
- การผ่าตัด สำหรับกรณีที่ข้อถูกทำลายมากไปแล้ว การผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนข้อจะช่วยให้ข้อทำงานได้ดีขึ้น ลดความเจ็บปวด
- กายภาพบำบัด รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อให้ข้อคงความยืดหยุ่น
การป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค สิ่งที่ทำได้คือ เข้ารับการวินิจฉัยทันทีเมื่อรู้สึกปวดข้อผิดปกติ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มจะมีโอกาสหยุดยั้งโรคได้ง่ายกว่าและมีโอกาสที่ข้อพิการน้อยกว่า สำหรับการดูแลของผู้ป่วย ได้แก่
- พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามผลการรักษาและผลข้างเคียงการใช้ยา
- ออกกำลังกายข้อเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อต่อและร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก กระโดด นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ พับเพียบ เพราะเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงทำลายข้อ
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ เพื่อลดการรับน้ำหนักของเข้าเข่า และข้อเท้า
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี และวิตามินซี เพื่อบำรุงเนื้อเยื่อและกระดูก
- เมื่อมีอาการปวด นอกจากรับประทานยาบรรเทาปวดแล้ว อาจใช้วิธีประคบเย็นวันละ 3 - 4 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที ร่วมด้วย
อาการปวดข้อบริเวณต่างๆ เช่น ปวดข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อเท้า อาจไม่ใช่เป็นการปวดข้อธรรมดาอีกต่อไป แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนจากโรคข้ออักเสบ หรือโรครูมาตอยด์ ซึ่งสามารถเกิดได้ในวัยหนุ่มสาวจนถึงวัยสูงอายุ และยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ อาจถึงขั้นรุนแรงถึงขั้นทำให้พิการได้
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. เมธี การุณย์คติมา แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซัม
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง