Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ร้อนนี้อันตราย เสี่ยงอาการ “ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด”

11 เม.ย. 2566


อากาศร้อนๆ แบบนี้ อันตรายจากฮีทสโตรก

   “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” (Heatstroke) คือ โรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน โดยเกิดจากที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าปกติ จนทำให้ความร้อนในร่างกาย (Core Temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนออกมาทันที เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้

อาการของโรคลมแดด

  • ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงถึง 40 องศา
  • ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก
  • หายใจถี่ ชีพจรเต้นแรง
  • ปวดศีรษะ หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ
  • สับสน มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน\
  • ผิวหนังเป็นสีแดง และแห้ง

การป้องกันโรคลมแดด

  • หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ (Heat Acclimatization)
  • ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
  • ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
  • ใช้ครีมกันแดด SPF 15 ขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด หรือ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในอากาศร้อนจัด
  • หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด
  • ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง

ทำอย่างไร เมื่อพบผู้ที่มีอาการฮีทสโตรก

  1. พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็น
  2. ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียน
  3. ถอดเสื้อผ้า ให้เหลือน้อยชิ้น หรือเท่าที่จำเป็น กรณีเป็นสุภาพสตรีให้คลายชุดชั้นใน
  4. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น เช็ดตามตัววางถุงน้ำแข็งตามซอกคอ รักแร้และขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่า
  5. หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
  6. รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
  7. อันตรายหากช่วยเหลือไม่ทัน อาจถึงขั้นชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้

   หากเจอผู้ป่วยที่มีอาการฮีทสโตรกต้องแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ ผู้ป่วยที่หมดสติและไม่หายใจให้รีบโทร.1669 หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ โทรสายด่วนฉุกเฉิน 1745 ในเครือโรงพยาบาลบางปะกอก เพื่อเข้ารักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว และทำการ CPR ผู้ป่วย ณ บริเวณนั้นอย่างทันท่วงที

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.นุชจรี สินสุขพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน 
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.