Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ลดเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนผู้ใหญ่ Check Up & Vaccine Center ชั้น 3

1 ต.ค. 2563


ทำไมต้องฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่...??
   คุณรู้หรือไม่ ภูมิต้านทานที่คุณเคยได้รับจากการฉีดวัคซีนในวัยเด็กอาจไม่มีประสิทธิภาพป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่ เมื่ออายุมากขึ้น แต่ภูมิคุ้มกันลดลง เสี่ยงโรคมากขึ้น ดังนั้น การกระตุ้นวัคซีนบางชนิดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประสิทธิภาพป้องกันโรคได้เต็มที่ และลดความรุนแรงของโรครวมถึงลดอัตราเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น
 
มาทำความรู้จักวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ
  • วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่    
  การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่พบได้ในทุกช่วงวัย โดยทั่วไปการติดเชื้อไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงแต่หากผู้สูงอายุมีการติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ จะทำให้มีอัตราเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สูงตามไปด้วย ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรฉีดเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เริ่มในช่วงปลายฤดูฝนหรือช่วงต้นฤดูหนาวเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
  • วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
   การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด 1 เข็ม แนะนำสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำและลดความรุนแรงของอาการงูสวัด โดยเฉพาะอาการปวดตามแนวเส้นประสาทที่พบตามมาได้บ่อยๆทั้งนี้คนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคงูสวัดได้ และยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสเป็นได้มาก เนื่องจากภูมิต้านทานของร่างกายที่ลดลง โดยอุบัติการณ์การเกิดงูสวัดจะพบประมาณร้อยละ 30ในประชากรทั่วไป และจะเพิ่มถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุ 85 ปี
  • วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม (ปอดอักเสบ)
    เชื้อนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ 2 ชนิด โดยเริ่มฉีดชนิด 13 สายพันธุ์ และ ชนิด 23 สายพันธุ์กระตุ้นอีก 1 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 8 สัปดาห์แต่สำหรับผู้มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคไต สูบบุหี่ สามารถฉีดได้ก่อนอายุ 65 ปี
  • วัคซีนป้องกันคอตีบไอกรน บาดทะยัก
   การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก 1 เข็ม โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันบาดทะยักควรฉีดกระตุ้นภูมิทุกๆ10 ปีซึ่งผู้ป่วยที่เป็นบาดทะยักส่วนใหญ่มักไม่มีประวัติรับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน ดังนั้นหากได้รับวัคซีนจะสามารถช่วยลดความเจ็บป่วยและช่วยป้องกันอัตราการเสียชีวิตจากโรค
  • วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส
    เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคและมีโอกาสสัมผัสเชื้อ เช่นครู หรือผู้ที่เลี้ยงเด็กเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ยังไม่ต้องการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ทราบหรือไม่มีประวัติเคยเป็นมาก่อน ควรตรวจหาภูมิคุ้มกันอีสุกอีใสก่อนได้รับวัคซีน
  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี
   ตับอักเสบบีเป็นโรคร้ายที่ส่งผลกระทบต่อตับซึ่งเกิดจากไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีสามารถป้องกันโรคตับอักเสบบีและอันตรายต่างๆ ที่ตามมาหลังจากการติดเชื้อตับอักเสบบีได้ รวมถึงมะเร็งตับและตับแข็ง นอกจากนี้ยังเหมาะกับผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกไต รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อยๆ ผู้ที่มีโรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคไตวายเรื้อรัง ผู้เป็นโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
 
อาการข้างเคียงและการดูแลหลังจากได้รับวัคซีน
  • วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่มีความปลอดภัยสูง แต่ยังคงพบอาการข้างเคียงได้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่รุนแรงและยอมรับได้ และจะหายไปในระยะเวลา 2 – 3 วัน
  • อาการข้างเคียงของวัคซีนมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของวัคซีน ซึ่งวัคซีนเชื้อตาย มักทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้เร็วหลังได้รับวัคซีน โดยเฉพาะเรื่องไข้ ส่วนวัคซีนเชื้อเป็นมักมีอาการคล้ายเคียงกับอาการของโรคนั้น ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักและอาการมักเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนไปแล้วหลายวัน อาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ อาการเฉพาะที่ เช่น อาการปวด บวมแดง เจ็บ คันบริเวณที่ฉีด เป็นต้น 2. อาการทั่วไป เช่น อาการไข้ อ่อนเพลีย ผื่น เป็นต้น
  • การรักษาอาการข้างเคียงอาจทำได้โดยการประคบด้วยน้ำอุ่นบริเวณที่บวม ซึ่งจะช่วยให้ทุเลาลง หรืออาจให้ยาแก้ปวดลดไข้ร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ในกรณีที่อาการรุนแรง หรือไม่ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนควรพบแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อรับการตรวจร่างกาย พร้อมรับคำแนะนำเกี่ยวกับข้อบ่งชี้และข้อห้ามของวัคซีนแต่ละชนิด เพื่อให้ได้รับประโยชน์และความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีน


สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สัมพันธุ์ ธนกิจจำรูญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.