Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

สมองเสื่อมคืออะไร

20 ต.ค. 2566


สมองเสื่อมคืออะไร

   “ภาวะสมองเสื่อม” เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมตามวัย สามารถพบได้ในผู้สูงอายุ โดยมีความสามารถทางสติปัญญาลดลง มีการรู้คิดลดลง โดยการรู้คิดจะมีทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านความจำ
  2. ด้านสมาธิจดจ่อ
  3. ด้านการใช้ภาษา
  4. ด้านการรับรู้ตำแหน่งของวัตถุต่างๆ
  5. ด้านการวางแผน
  6. และด้านการใช้ชีวิตในสังคม

   ซึ่งหากมีการรู้คิดที่บกพร่องตั้งแต่ 1 ด้านขึ้นไป อาจเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ มีผลทำให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง

สมองเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร

   ภาวะสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากสาเหตุที่สามารถรักษาได้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคขาดวิตามินบี 12 โรคซึมเศร้า ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง เนื้องอกในสมอง โรคติดเชื้อบางชนิดเช่น ซิฟิลิส หรือเลือดออกในสมอง และสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ แต่ยังมีโรคอื่นๆที่สามารถทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ อาทิ โรคสมองส่วนหน้าฝ่อผิดปกติ โรคสมองเสื่อมเลวี่ บอดี้ เป็นต้น

ลักษณะอาการที่พบในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

โดยอาการมักจะค่อยเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงระยะเวลาเป็นเดือนถึงปี ได้แก่

  • ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดมาไม่นาน โดยที่ความจำเรื่องเก่าๆยังดีอยู่
  • วางของแล้วลืม หาของไม่เจอบ่อยๆ
  • หลงทางในที่คุ้นเคย
  • บุคลิก อารมณ์เปลี่ยน
  • มีความผิดปกติในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การใช้รีโมทโทรทัศน์ การใช้โทรศัพท์
  • พูดหรือถามเรื่องเดิมซ้ำๆภายในระยะเวลาสั้นๆ
  • ลืมนัดสำคัญบ่อยๆ
  • นึกคำพูดยากขึ้นหรือใช้คำผิดบ่อยๆ

การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม

   เมื่อมาพบแพทย์และสงสัยภาวะโรคสมองเสื่อม แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ทั้งผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแล ตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงการทำแบบทดสอบสมรรถภาพของสมองโดยละเอียด (neuropsychology test) เพื่อบอกถึงความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมนั้น โดยใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุ เช่น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ระดับวิตามินในเลือด หรือการตรวจพิเศษในผู้ป่วยบางราย เช่น การตรวจทางรังสี โดยการตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ Computed Tomography (CT Scan), การทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง Magnetic Resonance Imaging (MRI) หรือ การตรวจด้วยวิธีทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ Positron Emission Tomography (PET) scan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพื่อตรวจการทำงานของสมองที่ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

การรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อม

   เมื่อผู้ป่วยได้พบแพทย์เฉพาะทางและได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้อง หากอาการเข้าได้กับภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มที่สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษา แก้ไขสาเหตุและสามารถฟื้นฟูเพื่อทำให้สมองกลับมาทำงานได้ดีเกือบเท่าปกติ แต่หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาได้ เช่น อัลไซเมอร์ การใช้ยารักษาเป็นเพียงแค่การชะลอความเสื่อม เพื่อทำให้การรู้คิดหรือความจำที่ถดถอยดำเนินช้าลง หากผู้ป่วยพามาพบแพทย์เร็ว ก็จะช่วยชะลอความเสื่อมนี้ลงได้ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มียารักษาให้หายขาด แต่การรักษาแบบประคับประคองโดยการใช้ยาและการไม่ใช้ยาควบคู่กันมีผลอย่างมากในการเพิ่มคุณภาพชีวิตกับผู้ป่วยและญาติ อาทิ การฝึกสมอง การเล่นเกมส์ฝึกความจำ หรือการพัฒนาสมองด้วยกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้การรักษาอาการทางพฤติกรรมอารมณ์ที่ผิดปกติในผู้ป่วยสมองเสื่อม เช่น อาการเอะอะโวยวาย เห็นภาพหลอน ไม่ให้ความร่วมมือ เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการรักษาภาวะสมองเสื่อม ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาและแนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องให้กับผู้ดูแล ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างเหมาะสม และมั่นใจ

แนวทางป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม
เริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพร่างกายและสมอง ได้แก่

  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด และเค็มจัด
  • การพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
  • งดบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • งดยาที่ทำให้ง่วงนอน เช่น ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้แพ้
  • หมั่นฝึกสมอง พยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อยๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือบ่อย ๆ คิดเลข เล่นเกมตอบปัญหา
  • และหมั่นเข้าสังคม พบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อยๆ

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. เพชรรัตน์ ตั้งวัชรพงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านประสาทและสมอง
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.