Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

อันตรายจากแสงแดด

6 ก.ย. 2566


   แสงแดด หลีกเลี่ยงยังไงก็ไม่พ้น ความจริงแล้วแสงแดดมีประโยชน์มาก มีส่วนช่วยผลิตวิตามินดีในมนุษย์ ลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า ช่วยฆ่าเชื้อโรคและรักษาโรคบางชนิดได้ แต่ถ้าได้รับแสงแดดมากเกินไปก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน ลองมาดูกันว่าหากเราได้รับแสงแดดมากจนเกินไปโดยที่ไม่ได้ป้องกัน จะส่งผลเสียต่อผิวหนังอย่างไร แล้วจะมีวิธีป้องกันแสงแดดอย่างไรให้ถูกวิธี

แสงแดดคืออะไร ?

ในแสงแดดจะประกอบไปด้วยรังสีและแสงหลายชนิด ที่แตกต่างกันตามความยาวคลื่น โดยแบ่งเป็น

  • แสงที่มองเห็น (Visible light) มีปริมาณ 45% ของแสงแดดทั้งหมด มีพลังงานต่ำแต่ถ้าได้รับเป็นเวลานานก็ทำให้ผิวคล้ำเสีย กระตุ้นให้ฝ้าเข้มขึ้น หรือผิวเสื่อมจากแดดได้
  • แสงที่มองไม่เห็น (Invisible Light) เช่น อัลตราไวโอเลต (Ultraviolet light ;UV) ซึ่งรังสียูวีถูกแบ่งออกเป็น 3 โซนด้วยกัน คือ รังสี UVC, UVB และ UVA
  • แสงอินฟราเรด (Infrared) หรือแสงที่ให้ความร้อน มีปริมาณ 50% ของแสงแดดทั้งหมด และมีพลังงานต่ำกว่าแสงที่ให้ความสว่าง ดังนั้น จึงมีพลังงานต่ำที่สุด โดย Infrared A เป็นคลื่นแสงที่ทำให้เกิดผิวแก่ก่อนวัย (photoaging) ทำลายคอลลาเจน (collagen breakdown) และเกิดรอยเหี่ยวย่นของผิวหนัง เพราะสามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระได้ แต่ต้องใช้ปริมาณสูงมาก

UVA และ UAB อันตรายแค่ไหน?

  • รังสี UVA ทำให้เซลล์แก่ก่อนวัย เกิดผิวคล้ำ ริ้วรอย ผิวเหี่ยวย่น
  • รังสี UVB ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ผิวหนังแดง และไหม้

วิธีปกป้องผิวจากแสงแดด

  ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ช่วง 10.00 - 16.00 น. เพราะมีรังสี UVB อยู่เข้มข้น ทำให้ผิวถูกเผาไหม้ได้มากกว่าช่วงเวลาอื่น ถ้าจำเป็นให้สวมเสื้อแขนยาว กางร่ม ใส่หมวกปีกกว้าง ใส่แว่นตากันแดด จะช่วยป้องกันแสงแดดไม่ให้ทำลายผิวและยังป้องกันการเกิดต้อกระจกได้อย่างดี ที่สำคัญควรทาสารป้องกันแดด (Sunscreen) หรือครีมกันแดด เป็นประจำทุกวัน

เพราะครีมกันแดดสำคัญกว่าที่คิด

   ครีมกันแดด เป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวประเภทหนึ่งที่มีส่วนผสมของสารกันแดดซึ่งมีคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลต,รังสีที่เป็นอันตรายต่อผิวทั้ง รังสียูวีเอ (UVA), รังสียูวีบี (UVB), รังสียูวีซี (UVC) ที่จะส่งผลให้ผิวแก่ก่อนวัย และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้นจึงควรเลือกครีมกันแดดให้ถูกต้องและเหมาะสมกับผิวแต่ละประเภท

ค่า SPF และ ค่า PA บนฉลากครีมกันแดดบ่งบอกถึงอะไร?

  • ค่า SPF บ่งบอกถึงความสามารถในการปกป้องผิวจากรังสี UVB
  • ค่า PA บ่งบอกถึงความสามารถในการปกป้องผิวจากรังสี UVA

โดยค่าSPF และ ค่า PA ยิ่งสูงเท่าไหร่ประสิทธิภาพก็ดีขึ้นตามไปด้วย

หากไม่ใช้ครีมกันแดดจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

  • เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนัง
  • ผิวไหม้ง่าย
  • ผิวมีริ้วรอยเหี่ยวย่นจากแดด
  • สีผิวไม่สม่ำเสมอ มีกระขาว กระดำ กระเนื้อ เพิ่มจำนวนขึ้น
  • ผิวขาดความยืดหยุ่นจากเส้นใยอีลาสตินถูกทำลายโดยแดด

เลือกครีมกันแดดอย่างไร ไม่ให้เป็นมะเร็งผิวหนัง

   แดดไทยร้อนระอุอย่างหนัก มีผลเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังอย่างมาก แต่ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจถึงวิธีเลือกครีมกันแดดชนิดต่างๆ โดยครีมกันแดดแบ่งได้ 2 ประเภทคือ

  1. ครีมกันแดดชนิดเคมี (Chemical sunscreen) จะปกป้องผิวจากแสงแดด โดยใช้สารเคมีที่มีคุณสมบัติดูดซับแสงแดดที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีบนผิวหนัง สารกันแดดชนิดนี้มีประสิทธิภาพต่างกันไปตามชนิดของสารกรองแสงที่ช่วยป้องกันรังสียูวีเอ (Ultraviolet A) และรังสียูวีบี (Ultraviolet B) ทั้งนี้ สารกันแดดแบบเคมีมักไม่คงทน รวมทั้งก่อให้เกิดการแพ้ได้
  2. ครีมกันแดดชนิดกายภาพ (Physical sunscreen) จะสามารถป้องกันรังสี UV จากแสงแดด โดยการสะท้อนกลับ ซึ่งสารกันแดดชนิดนี้จะเคลือบบนผิว สามารถป้องกัน UVA, UVB, visible light และ infrared light ได้ มีโอกาสแพ้น้อย จึงเหมาะกับผิวแพ้ง่ายและไม่จำเป็นต้องทาซ้ำบ่อยๆ

เลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับสภาพผิว?

  • ผิวมัน – ผิวผสม : เลือกใช้ครีมกันแดดที่เป็น เนื้อน้ำ, โลชั่น, เจล หรือครีมกันแดดที่มีเครื่องหมายกำกับว่า ปราศจากน้ำมัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหน้ามันระหว่างวัน
  • ผิวธรรมดา : เป็นผิวที่สามารถเลือกใช้ครีมกันแดดได้ทุกรูปแบบ
  • ผิวแห้ง : เลือกใช้ครีมกันแดดที่เป็นเนื้อครีมที่มีส่วนผสมที่ช่วยบำรุงผิวให้มีความชุ่มชื้น ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • ผิวแพ้ง่าย : เลือกใช้ครีมกันแดดที่ไม่มีส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารพาราเบน แอลกอฮอล์ น้ำหอม ฟอร์มาลดีไฮด์ และอื่นๆ หรือครีมกันแดดที่มีเครื่องหมายกำกับว่า ผ่านการทดสอบโดยแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญว่าไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ใดๆ

สนับสนุนข้อมูลโดย: พญ.ทิมาพร ปัตยะกร แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังและความงาม
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ศัลยกรรมเพื่อความงามและผิวหนัง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ศัลยกรรมเพื่อความงามและผิวหนัง


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.