Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

การดูแลปฏิบัติตัวในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

29 มี.ค. 2567


   การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือ การตัดผิวข้อที่เสื่อมออก แล้วใส่วัสดุที่เป็นโลหะบริเวณผิวข้อ กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้งและกระดูกลูกสะบ้า รวมถึงการใส่วัสดุที่คล้ายพลาสติก บริเวณข้อต่อระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง โดยที่เอ็นเยื่อหุ้มข้อ และกล้ามเนื้อยังอยู่เหมือนเดิม
   หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมควรมีการฝึกบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อน่องอย่างสม่ำเสมอ และฝึกการเหยียดงอข้อเข่าอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปการเหยียดงอข้อเข่ามักเปลี่ยนแปลงได้มากในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังจากการผ่าตัด ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาที่ควรฝึกบริหารอย่างเต็มที่ และควรงอข้อเข่าได้อย่างน้อย 100 องศา ผู้ป่วยทุกคนจะรู้สึกว่าตึงและปวดข้อเข่าขณะพยายามงอข้อเข่า แต่พบว่าเมื่อผู้ป่วยปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้วอาการปวดและตึงมักน้อยลงจนหายไป  เมื่อข้อเข่าเริ่มเข้าสู่ภาวะคงที่แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 6 เดือน ข้อเทียมจะมีความแข็งแรงเสมือนว่าเป็นข้อเข่าของผู้ป่วยเอง จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าข้อจะหลุดออกมา ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้ ขึ้นลงบันไดได้ สามารถออกกำลังกายเช่น เดินเร็วๆ รำมวยจีน เล่นกีฬาเช่น ว่ายน้ำ  ตีกอล์ฟ ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเช่นการวิ่งเร็ว การกระโดดอย่างต่อเนื่อง การเล่นกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น เทนนิส เป็นต้น

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการตรวจรักษา และการออกกำลังกาย

  1. แผลผ่าตัดมีเลือดออกหรือซึม
  2. ปวดเข่ามาก มีอาการเข่าบวมแดงมาก และหรือมีไข้
  3. น่องบวมและปวดมาก

การปฏิบัติตัวเพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม

  1. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  2. หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดที่มากเกินไป
  3. รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป
  4. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่เร็วเกินไป รวมถึงการหมุนตัวที่รวดเร็ว
  5. หลีกเลี่ยงการงอเข่ามากๆ เช่น คุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งกับพื้น
  6. ระวังการลื่นหกล้ม
  7. การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและน่องอย่างสม่ำเสมอ



ท่าบริหารกล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อน่อง และฝึกการเหยียดงอข้อเข่า
  การบริหารควรทำท่าละ 10 - 20 ครั้งต่อเซต และทำวันละ 2 เซต หลังการบริหารอาจประคบด้วยความเย็นเพื่อลดอาการปวดที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริหาร

ท่าที่ 1

  1. นอนหงาย โดยมีผ้าขนหนูม้วนวางรองใต้เข่า
  2. ยกส้นเท้าขึ้นจากพื้นจนกระทั่งเข่าตรง กดเข่าลงไปกับม้วนผ้าขนหนู

ท่าที่ 2

  1. นอนหงาย โดยมีผ้าขนหนูม้วนวางรองใต้ข้อเท้า
  2. ขาเหยียดตรง กดส้นเท้าลงไปกับม้วนผ้าขนหนู จนรู้สึกตึงกล้ามเนื้อขาด้านหลัง

ท่าที่ 3

  1. นอนหงาย ขาเหยียดตรง
  2. ลากส้นเท้ามายังสะโพก โดยให้เข่างอจนรู้สึกตึง เกร็งค้างไว้ประมาณ 5 วินาที

ท่าที่ 4

  1. นั่งห้อยขา ให้เท้าวางบนพื้น
  2. ยกขาขึ้นให้เข่าเหยียดตรงแล้วเกร็งค้างไว้ 5 - 10 วินาที

ท่าที่ 5

  1. นั่งห้อยขาให้เท้าเหยียบบนผ้าที่วางบนพื้นเรียบ
  2. ลากเท้าเข้าหาตัว โดยให้เข่างอจนรู้สึกตึง แล้วค่อยๆเหยียดขาออกตามเดิม

ท่าที่ 6

  1. ยืนจับโต๊ะ
  2. ยกปลายเท้าขึ้นทั้ง 2 ข้าง จนรู้สึกเกร็งกล้ามเนื้อด้านหน้าขา

ท่าที่ 7

  1. ยืนจับโต๊ะ
  2. เขย่งปลายเท้าขึ้นทั้ง 2 ข้างจนสุด


วันเวลาทำการ

เปิดทุกวันทำการ วันจันทร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08:00 - 20:00 น.
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ชั้น 6 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อสอบถาม
โทรศัพท์ : 02-109-9111 ต่อ 10627, 10628
Call Center 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.