เข้าใจโรคหัวใจในเด็ก
อาการโรคหัวใจในเด็กมีได้แตกต่างกัน บางรายอาจจะไม่แสดงอาการอะไร แต่ตรวจพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ บางรายอาจจะมีอาการหัวใจล้มเหลว มีอาการหอบ เหนื่อย บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกได้ อาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ในเด็กเล็ก ก็คือเรื่องของการดูดนม โดยทั่วไปแล้วเด็กมักจะดูดนมได้หมด ภายในเวลา 15 นาที ถ้าลูกเราดูดนมได้ช้า ดูดนมแล้วดูดๆ หยุดๆ ปล่อยๆ หรือเลี้ยงไม่โต เป็นสัญญาณเตือนแล้วว่าลูกเราน่าจะมีปัญหาของโรคหัวใจ
การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กทำอย่างไร
โรคหัวใจในเด็ก มี 2 แบบ คือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด กับโรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลัง
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด
- โรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลัง เกิดจากสาเหตุ อาทิเช่น
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อัตราการเต้นช้าหรือเร็วเกินไป
- โรคไข้คาวาซากิ
- โรคหัวใจรูห์มาติก
เพราะฉะนั้นเวลาแพทย์วินิจฉัย ต้องอาศัยจากประวัติการตรวจร่างกาย หลังจากที่แพทย์ประเมินว่ามีความผิดปกติแล้ว จะทำการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) หรือเอกซเรย์ปอด และตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echo) ในบางรายอาจจะต้องวินิจฉัยโดยการสวนหัวใจหรือทำ MRI ถึงจะสามารถวินิจฉัยได้
ปัจจุบันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในผู้ใหญ่พบมากขึ้น จะป้องกันอย่างไร
การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในผู้ใหญ่ มันเป็นการช้าเกินไป เราต้องเข้าใจว่าไขมันอุดตันที่เส้นเลือด ความจริงแล้วเริ่มมีตั้งแต่ในวัยเด็ก เพราะฉะนั้นต้องป้องกันโรคนี้ตั้งแต่วัยเด็ก เราต้องค้นหาความเสี่ยงของเด็กที่ก่อให้เกิดโรคนี้ อาทิเช่น เด็กที่มีภาวะอ้วน พ่อแม่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด พ่อแม่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นต้น
ปัจจุบันนี้เด็กไม่ค่อยออกกำลังกาย เอาแต่เล่นอินเทอร์เน็ต หรือทานอาหารที่มีไขมันสูง มีภาวะโรคอ้วน สูบบุหรี่ในวัยรุ่น พฤติกรรมเหล่านี้ ก็เป็นความเสี่ยงที่จะต้องเริ่มมาปรับปรุงวิถีชีวิตให้ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองมีส่วนร่วมอย่างมาก ในการให้บุตรหลานเติบโต มีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงในอนาคตได้
สนับสนุนข้อมูลโดย : รศ.นพ.ไพโรจน์ โชติวิทยธารากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ ศูนย์กุมารเวชกรรม
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์กุมารเวชกรรม