Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

เป็นลมชักหรือไม่ ตรวจได้ด้วยคลื่นไฟฟ้าสมอง

22 มี.ค. 2567



   การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ Electroencephalogram (EEG) หมายถึง การตรวจโดยใช้วิธีการบันทึกประจุไฟฟ้าจากจุดต่างๆของสมองผ่านทางหนังศีรษะ ผลการตรวจจะปรากฏเป็นรูปกราฟในจอภาพ ซึ่งจะแปลผลโดยแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทวิทยา ว่าปกติหรือผิดปกติแบบใดและที่บริเวณใดของสมอง การบันทึกคลื่นสมองนี้จะทำภายใต้ภาวะต่างๆ เช่น ขณะตื่น หลับ ระหว่างชัก ระหว่างกระตุ้นด้วยแสง เป็นต้น
ประโยชน์ของการตรวจ
   การตรวจคลื่นสมองมีประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคลมชัก เพราะช่วยสนับสนุนุการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคลมชักจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังช่วยจำแนกชนิดของโรคลมชัก ซึ่งมีผลต่อการเลือกยากันชักที่เหมาะสมกับโรคลมชักแต่ละประเภท การตรวจคลื่นสมองสามารถใช้ประเมินผลการรักษาได้นอกเหนือจากการติดตามอาการผู้ป่วย อีกทั้งยังใช้ในการช่วยวางแผนก่อนหยุดยากันชัก
โรคใดบ้างที่ต้องตรวจเช็กคลื่นไฟฟ้าสมอง?/ข้อบ่งชี้ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
โดยปกติแล้วไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง แต่แพทย์จะพิจารณาตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติ เช่น
  • ช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก ติดตามผลของการรักษา และบอกชนิดของอาการชัก เพื่อช่วยในการเลือกยากันชักที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย และวางแผนหยุดยากันชักในผู้ป่วยโรคลมชัก
  • ช่วยวินิจฉัยแยกโรคระหว่างโรคลมชักและอาการชักปลอม (Non-epileptic seizures) ซึ่งหากเป็นโรคลมชักสามารถพบคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติ แต่หากเป็นอาการอื่นที่ไม่ใช่อาการชักจะไม่ตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองที่เปลี่ยนแปลงแม้ในขณะที่มีอาการ
  • บอกระดับการตื่นของสมองในผู้ป่วยที่มีความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง เช่นผู้ป่วยที่มีอาการสับสน ซึมลง หรือหมดสติ รวมถึงสงสัยภาวะอาการชักที่ไม่มีอาการเกร็งกระตุก
ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
  1. เจ้าหน้าที่จะจัดท่าผู้ป่วยให้นอน
  2. ติดสายตรวจขั้วไฟฟ้า (electrode) บนหนังศีรษะผู้ป่วยในตำแหน่งต่างๆ ที่ได้ทำความสะอาดไว้แล้ว จากนั้นต่อสายตรวจเข้าเครื่องตรวจคลื่นสมอง
  3. ก่อนเริ่มบันทึก บอกผู้ป่วยให้หลับตา ทำตัวให้ผ่อนคลาย และไม่เคลื่อนไหว หรือให้อยู่นิ่งๆ
  4. เมื่อเปิดเครื่องตรวจจะเกิดเส้นกราฟ ซึ่งเกิดจากสัญญาณไฟฟ้าในสมองปรากฏบนจอภาพตลอดเวลาที่ทำการบันทึก
  5. ระหว่างการตรวจจะมีเจ้าหน้าที่บอกให้ผู้ป่วยลืมตาและหลับตาเป็นระยะและในขณะตรวจจะมีการกระตุ้นการทำงานของคลื่นสมองด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้สามารถตรวจพบภาวะผิดปกติได้ชัดเจน เช่น หายใจลึกๆ และเร็วๆ (hyperventilation) นานติดต่อกันเป็นเวลา 3 - 5 นาที การกระตุ้นด้วยแสงไฟกระพริบที่มีความถี่ต่างๆ (photo stimulation) ทั้งนี้ไม่ได้จำเป็นที่ต้องตรวจช่วงกระตุ้นการทำงานในผู้ป่วยทุกราย
  6. เมื่อตรวจเสร็จ เจ้าหน้าที่จะช่วยผู้ป่วยเอาสายตรวจขั้วไฟฟ้า (electrode) ออกจากศีรษะผู้ป่วย
  7. กราฟที่ได้มานั้น แพทย์เฉพาะทางระบบประสาทจะเป็นผู้แปลผล และวางแผนการรักษาต่อไป
ระยะเวลาในการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองมีทั้งแบบการตรวจระยะสั้น (Routine EEG) ซึ่งใช้ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 30 – 60 นาที
การเตรียมตัวก่อนการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยากันชักตามปกติ ห้ามหยุดยากันชัก ก่อนมาตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ยกเว้นเป็นการแนะนำจากแพทย์ผู้ให้การตรวจ
  • สระผมด้วยแชมพูและล้างผมให้สะอาด ห้ามใช้ครีมนวดผม ควรปล่อยให้ผมแห้งก่อนทำการตรวจ ไม่ควรใส่เจลแต่งผม หรือฉีดสเปรย์
  • ผู้ป่วยควรอดนอนหรือนอนให้ดึกที่สุดในวันก่อนมาตรวจ โดยให้นอนประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องหลับระหว่างการตรวจ เพื่อหาชนิดของความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง
  • รับประทานอาหารได้ตามปกติก่อนตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
   การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้นเป็นการตรวจที่มีประโยชน์ โดยจะช่วยให้การวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในกระบวนการของการตรวจนั้นไม่มีความเสี่ยงหรืออันตรายใดๆ ไม่มีความเจ็บปวด

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. ธีรเดช เทพเกษตรกุล แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบประสาทและสมอง
ศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.