Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

เรื่องน่ารู้ของ...หญิงวัยทอง

12 ม.ค. 2558

   
   ปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่า สังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการประมาณการว่า สตรีวัยทองในประเทศไทยมีประมาณ 7 ล้านคน และในสตรีวัยทองกลุ่มนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ และภาวะอ้วนลงพุง 
ท่านเข้าสู่วัยทองหรือยัง...?
   การเข้าสู่วัยทอง ระยะแรกจะเป็นช่วงใกล้หมดประจำเดือน และช่วงหลังหมดประจำเดือนแล้ว 1 ปี ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในช่วงอายุ 45-55 ปี
ทำไมสตรีจึงหมดประจำเดือน...?
 
 สาเหตุสำคัญ คือ รังไข่ หยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิงและไม่มีการตกไข่ ซึ่งเคยเป็นหน้าที่ของรังไข่ มาตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์ หรือสตรีที่ได้รับการตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง
ทราบได้อย่างไรว่ากำลังเข้าสู่วัยทอง...?
   
จะพบความผิดปกติของประจำเดือน โดยเริ่มจากประจำเดือนจะมาเร็วขึ้นต่อมาประจำเดือนจะเริ่มห่างออก เช่น 2 - 3 เดือน จะมาครั้งหนึ่งและหลังจากประจำเดือนไม่มาครบ 1 ปี จึงนับได้ว่าเข้าสู่วัยทองอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้จะมีอาการ อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน ซึมเศร้า หงุดหงิดอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ช่องคลอดแห้ง เวลามีเพศสัมพันธ์จะมีอาการเจ็บ เวลาหกล้มกระดูกจะหักง่ายขึ้น
จะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเข้าสู่วัยทอง...?
   ถ้าจะให้ดีคงต้องแนะนำให้ดูแลสุขภาพกายและใจและวิถีดำเนินชีวิตให้ดีตั้งแต่วัยเด็กและช่วงหนุ่มสาว เพราะจะช่วยป้องกันและชะลอปัญหาสุขภาพในวัยทองได้อย่างไรก็ดีเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง คงต้องให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ เช่น อาหารควรลดอาหารประเภท แป้งและน้ำตาล และรับประทานคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืช ผัก ผลไม้ ซึ่งมีเส้นใยอยู่มาก ลดอาหารไขมันอิ่มตัวลง เช่น ไขมันจากสัตว์ทุกชนิด น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ฯลฯ เปลี่ยนมาใช้ไขมันไม่อิ่มตัวแทน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก ฯลฯ ควรรับประทานโปรตีน แคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอ ลดอาหารเค็ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์
   สำหรับสมุนไพรมีการศึกษาพบว่าสมุนไพรบางตัวอาจจะมีประโยชน์ต่อสตรีวัยทองแต่ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ สมุนไพรที่เคยศึกษาว่ามีประโยชน์ เช่น สารสกัดจากถั่วเหลือง ใบแปะก๊วย หรือ Black Cohosh
   สตรีวัยทองควรให้ความสนใจ ท่าทางที่ใช้ในการปฏิบัติกิจวัตรชีวิตประจำวัน เช่น ท่ายืน หรือเดิน ท่านอน ท่านั่ง การก้มยกของที่มีน้ำหนัก การเอื้อมหยิบของจากที่สูง ส่วนการออกกำลังกายจะช่วยสร้างเสริมมวลกระดูก เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อ เพิ่มความคล่องตัว และมีผลดีต่อการทรงตัว
   กิจวัตรประจำวัน เช่น การทำงานบ้าน รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ ทำครัว ล้วนมีผลดีต่อสุขภาพทางกายและใจ แต่อาจจะไม่สามารถทดแทนการออกกำลังกายได้ทั้งหมดสตรีวัยทองที่มีข้อบ่งชี้หรือมีความจำเป็นในการใช้ฮอร์โมนทดแทน แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยแพทย์จะอธิบายและให้ข้อมูลพร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ก่อนตัดสินใจรับฮอร์โมน ในกรณีที่มีโรคประจำตัวอย่างอื่นจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา แบบสหวิชาชีพ โดยผู้เชี่ยวชาญตามสาขาต่างๆ
   การตรวจสุขภาพประจำปี มีความสำคัญในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรค เพื่อให้การดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มแรกของภาวะวัยทอง และช่วยวางแนวทางในการปฏิบัติตนให้เหมาะสมดียิ่งขึ้น ดูเหมือนว่า วัยทองเป็นช่วงอายุที่มีปัญหาหลายอย่าง แต่ความเป็นจริงอีกมุมหนึ่ง พบว่าสตรีวัยทองเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่า มีความสมบูรณ์ ในเรื่องครอบครัว ตำแหน่งหน้าที่การงาน และความเป็นอยู่ เป็นช่วงเวลาที่ได้สะสมประสบการณ์ในชีวิตที่เพียงพอที่จะทำให้กำหนดวิถีการดำเนินชีวิตที่มีความสุขได้
สนับสนุนข้อมูลโดย 
นพ.นพดล จันทรเทพเทวัญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูตินารีเวช

โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล โทรศัพท์ 1745 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.