ทำอย่างไร...หากเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด
ในการเล่นกีฬาแทบทุกประเภท มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อข้อเข่าของผู้เล่นได้ ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุหรือการเล่นที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งการบาดเจ็บชนิดหนึ่งซึ่งพบได้มากก็คือ “เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด” ซึ่งส่งผลต่อการออกกำลังกายการเล่นกีฬาตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี เพราะฉะนั้น หากคุณกำลังมีอาการ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาก่อนที่การบาดเจ็บจะเรื้อรังจนทำให้ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย!!
รู้จักเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด…!!!
เส้นเอ็นที่อยู่ในข้อเข่าวางตัวอยู่ทางด้านหน้า มีหน้าที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการบิดหมุนตัวซึ่งต้องใช้เอ็นไขว้หน้าในการควบคุม เอ็นไขว้หน้าจะช่วยล็อกไม่ให้ข้อเข่าทรุด หรือไม่ให้มีอาการไม่มั่นคงในข้อเข่า
สาเหตุที่ทำให้เกิด “เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด”
ส่วนใหญ่การบาดเจ็บอย่าง เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาดนั้น พบได้บ่อยในนักกีฬาที่ต้องมีการวิ่งซิกแซกหลบหลีกฝ่ายตรงข้ามตลอดทั้งการแข่งขัน เช่น นักกีฬาฟุตบอล ซึ่งการวิ่งลงน้ำหนักและหมุนข้อเข่าขณะที่เข่ายังเหยียดตรงอยู่ ส่งผลให้เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าถูกกระชากและฉีกขาดได้ รวมไปถึงการปะทะระหว่างแข่งขัน ทำให้เกิดการบิดของเข่าอย่างรวดเร็วและรุนแรง การกระโดดหรือรีบยกเท้าที่ทำให้เอ็นไขว้หน้าถูกกระชากจนฉีกขาดได้
นอกจากนี้การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าจากอุบัติเหตุอื่นๆเช่นอุบัติเหตุการจราจรก็อาจเป็นสาเหตุของเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาดได้เช่นกัน
สัญญาเตือนที่บอกว่า รีบมาพบแพทย์…!!
- เมื่อเอ็นไขว้หน้าขาด จะได้ยินเสียงลั่นในข้อ (Audible Pop) และรู้สึกเหมือนว่ามีอะไรดีดอยู่ข้างในขา
- มีอาการปวดภายในเข่าลึกๆ เข่าบวมทันที ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้หรือลงได้ไม่เต็มที่
- มีอาการเข่าบวมและเลือดออกในหัวเข่า ภายใน 1 - 2 ชั่วโมงจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่อได้หลังจากการบาดเจ็บ
- สิ่งที่มองเห็น อาจจะมีอาการเข่าบวม ขยับเข่าลำบาก ขัด เจ็บ
- หากหลังจากเกิดการบาดเจ็บแล้วทิ้งไว้ระยะหนึ่งโดยที่ยังไม่ได้รับการรักษาจะมีความรู้สึกเหมือนเข่าหลวม ไม่มีความมั่นคงของข้อเข่าในขณะที่ทำกิจวัตรประจำวันเช่นเดินแล้วเข่าทรุดหรือไม่สามารถออกกำลังกายได้เท่าที่เคย
ดังนั้นหากมีอาการเตือนดังกล่าวจะต้องรีบมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุดซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดหมอนรองข้อฉีกขาดตามมา ส่งผลให้เกิดอาการงอเข่าไม่ลง ปวดบริเวณข้อเรื้อรังและส่งผลต่อการใช้งาน
รู้หรือไม่? หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ “ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย” ได้
ไม่เพียงแค่การเล่นกีฬาหรือการใช้งานข้อเข่าในกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่มักทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อเยอะๆ เป็นเวลานาน จนส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมในอนาคตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า แต่การเคยมีอุบัติเหตุมาก่อน เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อซึ่งทำหน้าที่สร้างความหล่อลื่นและปกป้องกระดูกเข่าบาดเจ็บจากภาวะเอ็นฉีกขาดแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง การปล่อยให้กระดูกอ่อนผิวข้ออักเสบเรื้อรัง... ก็เท่ากับกระดูกเข่าเกิดการเสียดสีกันมากขึ้น ทำให้เสี่ยงข้อเข่าเสื่อมในอนาคตได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะบาดเจ็บจนถึงขั้นต้องผ่าตัดหรือไม่ ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม
“เอ็นไขว้หน้าขาด” จำเป็นต้องรักษาด้วยการ “ผ่าตัด” หรือไม่?
เพราะเอ็นไขว้หน้าเข่าจะมีแรงดึงในตัวเอ็น เมื่อเกิดฉีกขาดจะทำให้ปลายของเอ็นมีการหดตัวห่างจากกันไปเรื่อยๆ แม้ว่าผู้ป่วยที่เอ็นไขว้หน้าขาดจะรักษาด้วยการกายภาพได้ แต่หากมีความต้องการที่จะกลับไปทำกิจวัตรประจำวันหรือเล่นกีฬาที่มีการใช้งานข้อเข่า เช่น การวิ่งหรือฟุตบอล การผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าก็ถือว่ามีความจำเป็น ทั้งนี้คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสภาพร่างกายและความต้องการของผู้ป่วยในการเล่นกีฬาก็เป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจเลือกการรักษาที่เหมาะสมด้วย
การผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด...มีข้อดีอย่างไรบ้าง?
เนื่องจากเอ็นข้อเข่าที่ฉีกขาดไปแล้วไม่สามารถเชื่อมติดกันใหม่ได้ การผ่าตัดรักษาจึงเป็นการสร้างเส้นเอ็นใหม่มาทดแทน โดยปัจจุบันมีการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยวิธีการส่องกล้อง ซึ่งแผลจะเล็กมาก นอนโรงพยาบาลไม่นานกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงน้อย ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้รวดเร็ว และหากได้รับการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายจากการบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุดแล้ว... ผู้ป่วยจะสามารถกลับมามีสมรรถภาพทางร่างกายได้เหมือนเดิมอีกครั้ง
ดูแลตัวเองดี...ก็เพิ่มโอกาสกลับมาใช้งานข้อเข่า (หลังผ่าตัด) ได้เหมือนเดิม
หลายคนมักกังวลว่า... หลังผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าแล้วจะยังสามารถกลับมาเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมหรือไม่ ด้วยปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีและสามารถทำกายภาพบำบัดได้เร็วซึ่งนับเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากไม่แพ้การผ่าตัด และหากสามารถการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายได้ต่อเนื่องตามแผนการรักษาโดยทีมแพทย์และนักกายภาพบำบัดตลอดจนนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมามีสมมรรถภาพทางกายที่ดีและสามารถออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เวชศาสตร์การกีฬาและโรคข้อไหล่
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745