แชทมากไป ระวังเสี่ยง นิ้วล็อค
ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตมากขึ้นโดยเฉพาะการเล่นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตเป็นเวลานานๆนอกจากนี้ด้วยพฤติกรรมการใช้ชิวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นหลักทำให้มีการใช้งานนิ้วมือด้วยท่าเดิมซ้ำๆ ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้พบว่าเป็นเสี่ยงต่อเป็นโรคนิ้วล็อคเพิ่มมากขึ้น
ทำความรู้จักโรคนิ้วล็อค…!!!
เมื่องอนิ้วแล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ง่ายซึ่งเกิดจากการอักเสบ ตีบแคบลงของปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่นิ้ว ทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ อาการนี้มักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ใช้นิ้วมือทำงานอย่างหนัก
ใครบ้างเสี่ยงนิ้วล็อค…!!!
- ผู้สูงอายุ ส่วนมากพบบ่อบในผู้สูงอายุ ซึ่งจะเกิดจากความเสื่อมของเส้นเอ็นและมีการใช้งานที่สะสมมานาน
- ผู้หญิง จะเป็นนิ้วล็อคมากกว่าเพศชาย
- ผู้ที่มีประวัติมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน
- กลุ่มคนที่ใช้นิ้วมือทำงานอย่างหนัก
อาการแบบนี้…นิ้วล็อคแน่นอน !!
- มีก้อนเจ็บที่ฝ่ามือ
- มือบวม
- มีเสียงหรือความรู้สึก “ก็อบ แก็บ”เวลาขยับหรือใช้งานนิ้วมือ
- ปวดเวลางอหรือเหยียดนิ้ว บางครั้งปวดมากจนไม่สามารถงอนิ้วได้
- บางรายที่เป็นมากๆ อาจจะทำให้นิ้วมือล็อคอยู่ในลักษณะงอตลอดเวลาโดยต้องใช้มืออีกข้างช่วยแกะเพื่อให้นิ้วเหยียดออกมาได้ หากปล่อยให้เป็นมากขึ้น อาจจะทำให้เหยียดนิ้วออกเองไม่ได้เลย
เช็คพฤติกรรมเสี่ยง…ที่ควรหลีกเลี่ยง !!
- การใช้นิ้วมือในท่าเดิมๆ เป็นเวลานานๆ เช่น กดแป้นพิมพ์ เล่นเกมส์ เป็นต้น
- การหิ้วของหนักเกินไป เช่น หิ้วตะกร้า ถุงพลาสติก หรือ ถังน้ำ
- บิดผ้าหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมากๆ
- ทำงานที่ต้องใช้มือกำ บีบ จับ หรือยกของหนักประจำ เป็นเวลานานๆ
- การเล่นกีฬาประเภท ตีกอล์ฟ การตีเทนนิส ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดนิ้วล็อคมากกว่ากีฬาประเภทอื่น
นิ้วล็อค รักษาได้…!!
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ และนำมือแช่น้ำอุ่นตอนเช้าหลังตื่นนอน ประมาณ 5 นาที ร่วมกับรับประทานยาลดปวดและอักเสบตามอาการ
- ฉีดยาลดการอักเสบเฉพาะที่ ตรงตำแหน่งปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ (A1-Pulley) ซึ่งยาที่ใช้นั้นเป็นยาในกลุ่มสเตียรอดย์ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ภายใต้ความดูแลของแพทย์ เนื่องจากผลข้างเคียงร้ายแรงที่สุดที่พบได้คือ เส้นเอ็นเปื่อยและอาจจะขาดเองได้
- การผ่าตัดเข้าไปตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ (A1-Pulley) ร่วมกับเลาะเนื้อเยื่ออักเสบที่หุ้มเส้นเอ็นออก วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้ายที่ใช้ในการรักษา จะช่วยลดอาการปวดและทำให้เส้นเอ็นขยับได้คล่องขึ้น ไม่มีอาการสะดุดเวลาใช้งาน โดยการผ่าตัดจะฉีดยาชาเฉพาะที่คล้ายกับการถอนฟัน ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการหลังจากผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วนิ้วมือสามารถขยับได้เลยตั้งแต่หลังผ่าตัดเสร็จ
ถึงแม้ว่าโรคนิ้วล็อคจะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่เป็นโรคที่สร้างความทรมานให้กับผู้ที่เป็นโรคนี้อย่างมาก หากเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานนิ้วมือให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการนิ้วล็อคมากกว่าการที่จะต้องมาหาทางรักษาในภายหลัง
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.กลยุทธ ตัณนิติศุภวงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745