Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

แสบร้อนกลางอก! สัญญาณโรค “กรดไหลย้อน” ที่คุณป้องกันได้

3 พ.ย. 2566


   โรคกรดไหลย้อนสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย พบได้ในทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งมีอาการที่อาจสร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงมีอาการเรื้อรังจนอาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารส่วนปลาย (Barrett’s esophagus) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารในที่สุด หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค โรคกรดไหลย้อนก็สามารถหายขาดได้
“กรดไหลย้อน” คืออะไร
   โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD) เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร (Lower Esophageal Sphincter : LES) หรือการย่อยอาหารได้ช้ากว่าปกติ ทำให้กรดหรือน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหารจนเกิดการอักเสบที่ผนังของหลอดอาหารส่วนปลาย โดยผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว สัมผัสได้ถึงน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมในช่องปาก มีกลิ่นปาก คลื่นไส้ ตลอดจนไอ หรือเจ็บหน้าอกได้ หากเกิดอาการเรื้อรังและรักษาด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม อาจนำไปสู่การเกิดหลอดอาหารตีบ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้
อาการของกรดไหลย้อน มีอะไรบ้าง 
อาการกรดไหลย้อนมีหลากหลาย โดยแบ่งเป็น…
  1. อาการของหลอดอาหาร เช่น อาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว และกลืนลำบาก
  2. อาการนอกหลอดอาหาร เช่น ไอ กล่องเสียงอักเสบ หอบหืด ไซนัสอักเสบ และฟันผุ
  3. อาการเจ็บแน่นหน้าอก ที่คล้ายกับอาการโรคหัวใจขาดเลือด
  4. อาการจุกแน่นคล้ายมีก้อนในลำคอ
สาเหตุของกรดไหลย้อน
  • ความผิดปกติของหูรูดส่วนล่างหลอดอาหาร ทำให้ไม่สามารถป้องกันการไหลย้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อาหารและน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร เรอเปรี้ยว แสบร้อนที่คอ
  • หลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ ทำให้อาหารและน้ำย่อยเกิดการคั่งอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานานกว่าปกติ ไม่สามารถบีบตัวให้อาหารลงสู่ลำไส้ได้หมด ทำให้ในกระเพาะอาหารเกิดแรงดันมากขึ้น หูรูดจึงถูกดันจนเปิดออก และทำการดันอาหารและน้ำย่อยกลับขึ้นมาสู่หลอดอาหาร
  • กระเพาะอาหารบีบตัวผิดปกติ การบีบตัวที่ผิดปกติของกระเพาะอาหารส่งผลให้อาหารต่างๆ ยังคงค้างอยู่ในกระเพาะนานกว่าปกติ ปัจจัยนี้เองที่ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นสู่หลอดอาหารมากขึ้น
นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว อาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อนได้ ดังนี้
  • โรคหนังแข็ง จะทำให้มีการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร มีภาวะหูรูดของหลอดอาหารผิดปกติ
  • หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารเสื่อม
  • โรคเบาหวาน
  • มีน้ำหนักมาก หรือมีภาวะโรคอ้วน
  • การตั้งครรภ์
  • รับประทานยาบางชนิด
สาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาทิเช่น
  • อาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด อาหารมัน อาหารย่อยยาก อาหารฟาสต์ฟู้ด แกงกะทิ เครื่องเทศ รวมถึงผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ พริกไทย อาหารที่มีน้ำส้มสายชูเป็นส่วนประกอบ ขนมหวาน อาหารจำพวกช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอมรสมิ้นต์ เนย ไข่ นมหรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัดกาแฟ ชา น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
  • ปริมาณอาหารที่มากเกินไป
  • นอนราบหลังจากรับประทานอาหารมื้อใหญ่ภายใน 2 – 3 ชม. ซึ่งกระเพาะอาหารจะยังมีอาหารค้างอยู่ หรือแม้แต่การนั่งนานๆโดยไม่ขยับ เช่น นั่งขับรถ ดูโทรทัศน์นานๆก็ส่งผลเช่นกัน
  • รับประทานอาหารหลัง 19.00 น. ซึ่งกระเพาะอาหารจะทำงานได้ลดลง จึงทำให้เกิดอาการง่ายขึ้น
  • ออกกำลังกาย ยกของหนัก หรือก้มตัว ภายใน 2 – 3 ชม.หลังรับประทานอาหาร
  • สวมเสื้อผ้าที่คับ หรือรัดแน่น โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง
  • ความวิตกกังวลและความเครียด
  • การสูบบุหรี่
การวินิจฉัยอาการกรดไหลย้อน
   จากการซักประวัติและอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยแพทย์อาจพิจารณาตรวจพิเศษด้านอื่นเพิ่มเติม หากอาการไม่ชัดเจน หรือผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาเท่าที่ควร หรือมีอาการที่อาจบ่งชี้โรคอื่น เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร การตรวจวัดกรดในหลอดอาหาร เป็นต้น
  • การซักประวัติ คนไข้ต้องมีอาการของโรคที่แน่ชัดคือภาวะแสบร้อนหน้าอก แน่นหน้าอก หรือเรอเปรี้ยว
  • การตรวจร่างกายในกรณีที่สงสัยหรือต้องการการยืนยันว่าตนมีภาวะกรดไหลย้อนหรือไม่ อาจมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้อง ตรวจทางเดินอาหาร ตรวจความเป็นกรดความเป็นด่างของหลอดอาหารเพื่อยืนยัน โดยปกติที่ทำในเวชปฎิบัติ จะดูจากอาการและการตรวจร่างกายเท่านั้น
  • การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน หรือหลอดอาหาร แนะนำให้ตรวจเมื่อมีอาการที่แสดงว่าอาจเป็นโรคอื่น เช่น เมื่อภาวะแทรกซ้อน หรือมีอาการที่ไม่แน่ชัดว่าเป็นจากโรคหรือภาวะกรดไหลย้อนหรือไม่ อาทิ มีอาการกลืนติด กลืนเจ็บ มีน้ำหนักตัวลดลง อาเจียนเป็นเลือด เพื่อยืนยันการวินิจฉัย และหากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา การตรวจส่องกล้องจะสามารถบอกสาเหตุ ชนิด และความรุนแรงของโรคกรดไหลย้อน เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้นได้ ส่งผลให้โอกาสรักษาหายขาดมากขึ้น
  • การส่องกล้องหลอดอาหารในปัจจุบันใช้เวลาตรวจเพียง 10 – 15 นาที ก่อนตรวจต้องงดน้ำและอาหารมาก่อน เพื่อให้หลอดอาหารและกระเพาะอาหารสะอาด และลดการสำลักขณะส่อง โดยขณะส่องผู้ป่วยจะได้ยาที่ลดความอึดอัดในช่องส่อง ทำให้สามารถตรวจได้โดยผู้ป่วยจะไม่เจ็บ ไม่อึดอัด ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และไม่มีแผลใดๆ หลังการตรวจ
การรักษาอาการกรดไหลย้อน
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นวิธีการรักษากรดไหลย้อนที่เป็นส่วนสำคัญของการการรักษา เพื่อลดอาการได้ไว และช่วยลดโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำ โดยเริ่มจากการหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นอาการ เช่น กระเทียม หอมแดง การดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ รวมไปถึงการปรับปริมาณอาหารที่รับประทาน ท่าทางหลังรับประทานอาหาร และเวลารับประทานอาหารให้เหมาะสม นอกจากนี้ การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกตินั้นจะช่วยลดอาการของโรค และช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน
  • ในบางรายอาจรักษาด้วยการให้รับประทานยาในกลุ่มยับยั้งการหลั่งกรด ยาลดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะช่วยทำให้การอักเสบในหลอดอาหารลดลง จนบรรเทาอาการปวดท้อง จุก เสียด แน่น อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก
  • ยาช่วยย่อยอาหาร หรือป้องกันอาการ ซึ่งควรรับประทานตามเวลา ให้ครบตามขนาด และระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้การอักเสบหายสนิท และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา
  • หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร เพื่อให้สามารถรักษาโรคนี้ในกรณีที่เป็นขั้นรุนแรงและเรื้อรัง
การป้องกันกรดไหลย้อน
  • ทานอาหารในเวลาที่เหมาะสม คือ การทานตามมื้อปกติ เช้า กลางวัน และเย็น โดยมื้อสุดท้ายของวันควรทานก่อน 19.00 น.
  • เมื่อรับประทานอาหารแล้วไม่ควรเข้านอนทันที ควรเว้น 2 - 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน หากต้องการนอน ให้หน้าอกอยู่สูงกว่าท้องประมาณ 45 องศา เพื่อลดภาวะการเกิดกรดไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารได้
  • ท่าทางหลังการทานอาหาร นั่งพักสักครู่ แล้วสามารถเดินเพื่อช่วยย่อยอาหาร และควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง จึงค่อยออกกำลังกายที่มีผลต่อการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น วิ่ง ยกน้ำหนัก
  • ปริมาณอาหารที่ทานในแต่ละมื้อควรทานในปริมาณที่พอดี ไม่อิ่มมากจนเกินไป หากยังมีอาการแน่นท้องควรปรับเป็นการทานอาหารมื้อละน้อยๆ แต่ทานจำนวนมื้อที่เพิ่มแทน โดยปรับให้เวลาห่างของแต่ละมื้อมีมากพอที่จะย่อยอาหารได้หมดก่อนมื้อถัดไป
  • ประเภทอาหารควรเป็นอาหารที่สามารถย่อยง่าย โดยเลี่ยงอาหารที่มักกระตุ้นอาการของกรดไหลย้อน เช่น อาหารรสจัด อาหารมัน อาหารทอด ของหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือผู้ที่มีภาวะอ้วน ควรลดน้ำหนักเพื่อลดภาวะที่ทำให้เกิดความดันในช่องท้องที่สูงขึ้น ทำให้เกิดมีการไหลย้อนของกรดไปที่หลอดอาหารได้

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.พรพรรณ เทียนชนะไชยา แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.