Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)

25 เม.ย. 2562


   ปัจจุบันโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือที่เรียกกันว่า “โรคแพ้อากาศ” ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและพบบ่อยมากที่สุด ซึ่งอาการของโรคจะมีความรุนแรงแตกต่างกันและยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น โรคหืด, โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง, ภาวะมีน้ำในช่องหูชั้นกลาง, ริดสีดวงจมูก เป็นตัน แต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ลงได้
สาเหตุเกิดจากอะไร...!!
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยมักมีประวัติครอบครัวเป็นภูมิแพ้ มีการศึกษาพบว่า พ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นสูงถึงเกือบ 60% แต่ถ้าพ่อหรือแม่เป็นภูมิแพ้คนเดียว ลูกจะมีโอกาสเป็นประมาณ 40% และกรณีที่ไม่มีพ่อแม่เป็นภูมิแพ้เลย ลูกยังมีโอกาสเป็นได้ถึง 12.5%
  • สารก่อภูมิแพ้
  • ปัจจัยกระตุ้น เช่น โรคติดเชื้อ สารระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิหรือความกดอากาศ ภาวะทางจิตใจ และโครงสร้างจมูกที่ผิดปกติ
เมื่อมีอาการแบบนี้...!!
  • คัดจมูก คันจมูก จาม หายใจไม่ออก
  • คันตาและน้ำตาไหล
  • น้ำมูกไหล มักเป็นน้ำมูกใสๆ หรือเหนียวใส ซึ่งแตกต่างจากการติดเชื้อหรือไซนัสอักเสบ
  • มีอาการของโรคภูมิแพ้อื่นร่วมด้วย เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้, โรคหืด, โรคภูมิแพ้ผิวหนังร่วมด้วยมาก่อน
เข้าใจการรักษา...!!
  แพทย์จะทำการซักประวัติ การตรวจร่างกายอย่างละเอียด และทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ ดังนี้
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) หรือการเจาะเลือดหาแอนติบอดี้จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัย (Specific IgE to allergen)
  • การใช้ยารักษา ซึ่งได้แก่ ยาพ่นจมูก, ยาแก้แพ้รับประทาน, ยาแก้คัดจมูก
  • การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิ เพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ในระยะยาว (Allergen immunotherapy) อาจทำให้หายจากโรคภูมิแพ้ได้ในระยะยาว
  • การรักษาประคับประคองอื่นๆ เช่น การล้างจมูก ลดการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ล้างน้ำมูกออกและทำให้ยาพ่นออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
  • การรักษาภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น ไซนัสอักเสบ, นอนกรนจนหยุดหายใจจากการมีต่อมอดีนอยด์และทอนซิลโต, โรคหืดกำเริบ เป็นต้น โดยทั้งนี้โรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรัง ควรมาติดตามอาการเป็นระยะๆ ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  เนื่องจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่ถ้าหากเป็นแล้วจะเป็นๆ หายๆ หรือเรื้อรังทำให้มีผลต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ พยายามหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุและออกกำลังกายเป็นประจำ  

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. ธิดารัตน์ พงศ์สิริพิพัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ สาขาภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.