โรคต้อหิน การเสื่อมของเส้นประสาทตา
โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นกลุ่มโรคที่มีการเสื่อมลงของเส้นประสาทตา เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาบอดอันดับที่สอง รองจากโรคต้อกระจก
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
- มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน
- อายุมากกว่า 40 ปี
- มีอุบัติเหตุบริเวณดวงตา ใบหน้า หรือศีรษะอย่างรุนแรง
- การใช้สารสเตียรอยด์
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
- สายตาสั้นมากหรือยาวมาก
ประเภทของโรคต้อหิน
โรคต้อหินปฐมภูมิ แบ่งย่อยได้ 2 ประเภท
- โรคต้อหินมุมปิด เกิดจากทางระบายน้ำในลูกตาแคบลงหรือถูกปิดกั้น ต้อหินชนิดนี้ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการปวดตามาก ตาแดง ตามัวลง คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นแสงรุ้งรอบดวงตา
- โรคต้อหินมุมเปิด เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด ต้อหินชนิดนี้จะมีการดำเนินของโรคอย่างช้าๆ ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ จนกระทั่งลานสายตาสูญเสียไป เริ่มมีอาการตามัว
- โรคต้อหินทุติยภูมิ เกิดจากความผิดปกติอย่างอื่นของดวงตา เช่น เบาหวานขึ้นตา ต้อกระจกที่สุกมาก การอักเสบภายในดวงตา เนื้องอกและมะเร็งในลูกตา อุบัติเหตุต่อดวงตา ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตา และการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์
- โรคต้อหินแต่กำเนิดและในเด็กเล็ก เกิดจากความผิดปกติของดวงตาตั้งแต่ในครรภ์ ทำให้มีการระบายน้ำในลูกตาผิดปกติ โดยอาจมีความผิดปกติเฉพาะดวงตา หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการกลัวแสง เปลือกตากระตุก มีน้ำตาไหลเอ่อ หรือผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าเด็กมีตาดำใหญ่กว่าปกติ หรือขุ่น เป็นต้น
การวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์
- ตรวจวัดความดันลูกตา (Intraocular pressure)
- ตรวจดูความหนาของกระจกตา (Central corneal thickness)
- ตรวจดูมุมตา (Gonioscopy)
- ลานสายตา ประเมินการทำงานของเส้นประสาทตา (Visual field test)
- ขยายม่านตา และสแกนดูความหนาของใยประสาทตา (Optical coherence tomography)
การรักษา/แนวทางการรักษา
เพื่อชะลอความเสื่อมของเส้นประสาทตา และให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี การรักษาต้อหินมีหลายวิธี ขึ้นกับประเภทและความรุนแรงของโรค เช่น
- การหยอดยา
- การรับประทานยา
- การเลเซอร์
- 3.1 Laser peripheral iridotomy (LPI)
- 3.2 Laser iridoplasty
- 3.3 Laser trabeculoplasty
- 3.4 Laser cyclophoto coagulation
- การผ่าตัด มักพิจารณาในกรณีภายหลังจากรักษาด้วยยา หรือเลเซอร์ไม่ได้ผล ยกเว้นในต้อหินบางชนิด เช่น ต้อหินแต่กำเนิด หรือต้อหินชนิดทุติยภูมิต่อภาวะอื่นในตา ซึ่งการผ่าตัดจะถูกพิจารณาเป็นขั้นแรกในการรักษา
การผ่าตัดที่เป็นมาตรฐานในการรักษาต้อหิน คือ Filtering surgery เป็นการผ่าตัดสร้างทางระบายน้ำที่ไหลเวียนในลูกตาให้ออกจากตา เพื่อลดความดันตา ให้น้ำถูกไหลเวียนไปอยู่ที่ตำแหน่งใต้เยื่อบุตา
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมความดันลูกตาได้ด้วยการใช้ยา หรือการทำเลเซอร์ ซึ่งจักษุแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษา ให้ผู้ป่วยอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. ปุญญสิริ จินดากุล แพทย์เฉพาะทางสาขาจักษุวิทยา โรคต้อหิน
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ตาเฉพาะทาง ชั้น 2 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ 90225