โรคพาร์กินสัน รู้ทัน รักษาให้ไว
โรคพาร์กินสัน รู้ทัน รักษาให้ไว
โรคพาร์กินสันคืออะไร
โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “โรคสันนิบาตลูกนก” เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์สมองในส่วนที่สร้างสารเคมีที่ชื่อว่า โดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเริ่มทำงานเสื่อมสภาพลงจนไม่สามารถผลิตสารนี้ได้อีกต่อไป จึงมีผลให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ นับว่าเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งในผู้สูงอายุ พบมากในช่วงอายุ 65 - 80 ปีขึ้นไป โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า โรคนี้จะดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่สามารถกระทบกับผู้ป่วยได้ในระยะยาว
อาการของโรคพาร์กินสัน
โดยปกติแล้วโรคนี้จะมีอาการที่แสดงออกมามาก หรือน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ที่เป็นเหมือนกันคือ โรคนี้จะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนโรคทางสมองอื่นๆ และอาการจะเป็นมากขึ้นไปด้วยหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน โดยอาการที่แสดงออกมีดังนี้
- อาการสั่นเกร็ง (Tremor) มักจะมีอาการที่นิ้วมือ แขน ขา โดยจะเกิดอาการสั่นเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหว และไม่สามารถควบคุมได้ หากเริ่มทำกิจกรรมอาการสั่นจะลดลง หรือหายไป และอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย
- เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) ใช้เวลานานในการเคลื่อนไหว หรือช้ากว่าปกติ ทำให้เกิดความยากลำบากในชีวิตประจำวัน และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้
- ท่าเดินผิดปกติ (Posture Instability) ผู้ป่วยจะมีอาการก้าวเดินสั้นๆ ในช่วงแรกและจะก้าวยาวขึ้น จนเร็วมาก และไม่สามารถหยุดได้ทันที นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหลังค่อม แขนไม่แกว่ง หรือเดินแข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์
- การแสดงสีหน้าเหมือนใส่หน้ากาก (Facial Masking หรือ Masked Face)ผู้ป่วยจะมีใบหน้าเฉยเมย เวลาพูดมุมปากจะยกขึ้นเพียงเล็กน้อยทำให้ดูเหมือนไม่มีอารมณ์ร่วม
- พูดเสียงเบา ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดเสียงเบา หรือเสียงอาจหายไปในลำคอ บางรายอาจมีอาการพูดรัวเร็ว ระดับเสียงในการพูดอยู่ในระดับเดียวกันตลอด และอาจมีน้ำลายสอออกมาคลออยู่ที่มุมปาก
โรคพาร์กินสันที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Motor Symptoms) ประกอบด้วย
- อาการเคลื่อนไหวช้า
- อาการสั่นขณะอยู่เฉย
- อาการแข็งเกร็ง
- การทรงตัวลำบาก
ซึ่งอาการของการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเหล่านี้ นำไปสู่การหกล้ม รวมเรียกว่า กลุ่มอาการพาร์กินโซนิซึ่ม นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยพาร์กินสันยังมีอาการที่ นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว (Non-motor Symptoms) หรืออาการที่เป็นสัญญาณเตือนก่อนเป็นโรคพาร์กินสันเรียกว่า Prodromal Symptoms ได้แก่
- อาการนอนละเมอในกลางดึก
- อาการดมกลิ่นหรือรับรสอาหารไม่ได้
- อาการท้องผูกเรื้อรัง
- อาการซึมเศร้า
แต่ไม่ใช่คนที่นอนละเมอทุกรายจะเป็นอาการของโรคพาร์กินสันเสมอไป เนื่องจากอาการที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงกับโรคพาร์กินสันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ร่วมกับประวัติครอบครัวของโรคพาร์กินสันแล้วโอกาสของการเป็นโรคพาร์กินสันก็จะเพิ่มขึ้น อาการเตือนเหล่านี้ในทางการแพทย์บ่งบอกถึงภาวะเสื่อมทางระบบประสาทได้เริ่มขึ้นในบริเวณก้านสมองส่วนล่างซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการนอนหลับ และระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการขับถ่าย เป็นต้น ซึ่งหลักฐานทางการวิจัยได้บ่งบอกว่าอาการเหล่านี้อาจเกิดก่อนอาการพาร์กินสันทางการเคลื่อนไหวได้นานมากถึง 6 - 20 ปี
อาการเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในสัญญาณเตือนที่บอกให้ผู้ป่วยรู้ว่า ระบบประสาทส่วนกลางเริ่มเกิดความเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการเคลื่อนไหวผิดปกติออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอาการที่จะทำให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอาการของโรคพาร์กินสัน ดังเช่นที่ผู้ป่วยรายหนี่งได้พูดถึงอาการตะคริว หรือปัญหาของการใส่รองเท้า ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นอาการเพียงเล็กน้อย แต่ความเป็นจริงแล้วระดับของโดพาร์มีน (Dopamine) ได้เริ่มลดลงมานานแล้วก่อนหน้าที่อาการจะแสดงออก
รักษาพาร์กินสันได้อย่างไร
- การรับประทานยา เพื่อเพิ่มปริมาณสารเคมีโดปามีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยแพทย์จะพิจารณาการให้ยาตามอาการของผู้ป่วย
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่ง และการทรงตัว ผู้ป่วยจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น
- การผ่าตัด มักใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากการรับประทานยา การผ่าตัดจะใช้วิธีฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง เรียกว่า การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation)
การดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
- ผู้ป่วยโรคนี้จะมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว เพราะจะมีอาการสั่น และไม่สามารถควบคุมการเดินได้อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ คนใกล้ชิดจึงควรช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ หรือกิจกรรมที่ผู้ป่วยสนใจ
- ดูแลเรื่องการรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ รวมถึงดูแลเรื่องการรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์แนะนำ
- ในด้านจิตใจ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะพยายามแยกตัวเองออกจากสังคม และรู้สึกกลัวว่าจะไม่มีใครดูแล จนเกิดความท้อแท้ และหมดกำลังใจ คนในครอบครัวจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด และทำความเข้าใจโรคที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่ด้วย
- หมั่นให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด เพื่อฝึกการทรงตัว โดยการฝึกเดินให้ได้มากที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการเดินลำบากสามารถใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวได้
- กรณีดูแลผู้ป่วยติดเตียง ต้องระวังการป้อนอาหาร ควรป้อนคำเล็กๆ ช้าๆ เพราะผู้ป่วยอาจเกิดอาการสำลักอาหารและอาจส่งผลให้ติดเชื้อได้
- ดูแลเรื่องสุขอนามัย และหมั่นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันแผลกดทับ
- โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทำให้เสี่ยงพิการ และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ ดังนั้นหากพบว่าคนในครอบครัวมีอาการเข้าข่ายจะเป็นโรคนี้ควรรีบพาเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยนั่นเอง
“โรคพาร์กินสันต้องรักษาให้ไว” ข้อมูลสำคัญอีกอย่างที่ช่วยสนับสนุนการเริ่มรักษาเร็วก็คือว่าการรักษาในปัจจุบันช่วยชะลอความรุนแรงของโรคอย่างชัดเจนส่งผลให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเร็วมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีภาวะแทรกซ้อนน้อยลงและมีอายุที่ยืนยาวขึ้น และอีกเหตุผลหนึ่งในทางทฤษฎีแล้วการทดแทนระดับโดพาร์มีนจะช่วยให้สมองของผู้ป่วยไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไปในช่วงของการทดแทนหรือชดเชยอาการที่ขาดหายไป
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. รตณัฐ เหมินทร์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ และประสาทวิทยา
ศูนย์การแพทย์ : สมองและระบบประสาท
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745