Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคหลอดเลือดสมอง รู้ทัน ป้องกันได้

4 ก.ย. 2566


โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

   โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะสมองขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ/อุดตันหรือมีเลือดออกในสมอง หรืออาการเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้เซลล์สมองขาดออกซิเจน ส่งผลให้สมองตาย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ทันที การรักษาอย่างรีบด่วนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะช่วยลดความรุนแรงจากภาวะสมองตาย และรวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ และยังป้องกันความพิการและทุพพลภาพที่จะเกิดขึ้น

โรคหลอดเลือดสมองอาการเป็นอย่างไร

การสังเกตลักษณะอาการมีความสำคัญมาก ดังนั้นควรสังเกตและตรวจเช็คอาการ หากตัวผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองได้

  • พูดไม่ชัด พูดไม่ได้หรือไม่สามารถเข้าใจคำพูดของคนอื่น
    ผู้ป่วยจะรู้สึกสับสน มึนงง พูดไม่ชัด หรือมีปัญหาในการทำความเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด
  • อาการอ่อนแรง (อัมพฤกษ์/อัมพาต) บริเวณหน้า แขน ขา
    ผู้ป่วยจะเกิดอาการอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน บริเวณ หน้า แขนหรือขา โดยส่วนใหญ่แล้วอาการจะเกิดกับร่างกายแค่ด้านเดียว ร่วมกับอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้
  • ปัญหาด้านการมองเห็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
    ผู้ป่วยจะเกิดอาการตามัวแบบเฉียบพลัน หรือเห็นภาพซ้อน
  • เวียนศรีษะ/ปวดศรีษะ
    อาการรุนแรงแบบเฉียบพลัน มักจะพบร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปัญหาด้านการเดินเซ การทรงตัวผิดปกติ หรือซึมลง (Altered Consciousness) มึนศีรษะ อาการคลื่นไส้อาเจียน

อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์
   ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันที หากพบอาการคล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดสมอง ถึงแม้ว่าอาการเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ และหายไป ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามแนวทางของ “FAST” ดังต่อไปนี้

  • F (Face) ใบหน้า - ให้ผู้ป่วยพยายามยิ้ม แล้วสังเกตว่ามีอาการปากเบี้ยวหรือไม่?
  • A (Arm) แขน - ให้ผู้ป่วยพยายามยกแขนขึ้นทั้งสองข้าง เหนีอศรีษะ แล้วสังเกตว่าแขนข้างใดข้างหนึ่งตกไม่มีแรง ต่างจากอีกข้างหนึ่งชัดเจน?
  • S (Speech) คำพูด - ถามคำถามง่าย ๆ ที่ผู้ป่วยน่าจะตอบได้ ฟังเสียงผู้ป่วยและความหมายในการ แล้วลองสังเกตว่าเสียงผู้ป่วยพูดไม่ชัดหรือไม่?
  • T (Time) ระยะเวลา - หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์ทันที

  โทรศัพท์หาสถานพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่ของผู้ป่วยทันที อย่ารอจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพราะยิ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วเท่าใด ยิ่งลดความเสี่ยงของภาวะสมองขาดเลือดและลดความรุนแรงของทุพพลภาพได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

สาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
   สาเหตุหลักของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมี 3 ประเภท สาเหตุแรกคือหลอดเลือดเกิดตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke) และหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการของภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient Ischemic Attack) นำมาก่อน

  • ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke)

พบได้บ่อยถึง 85% ของโรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ AF

  • ภาวะหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

พบได้ประมาณ 15% ของโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจัยดังต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในเกิดภาวะหลอดเลือดสมองแตก

- ภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้
- การได้รับการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) ที่มากเกินความจำเป็น
- โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (cerebral aneurysm or arteriovenous malformation)
- การบาดเจ็บ อุบัติเหตุ
- มีโปรตีนสะสมผิดปกติในผนังหลอดเลือด (cerebral amyloidosis)
  • ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient ischemic attack - TIA)

   ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) คืออาการโรคหลอดเลือดสมอง แต่อาการเป็นไม่นาน (< 24 ชั่วโมง) แล้วอาการดีขึ้นได้เอง สาเหตุของ TIA เกิดจากสมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอเป็นระยะเวลาชั่วคราว ส่วนใหญ่จะมีอาการ 5  -15 นาที แล้วอาการดีขึ้นเอง
   อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรทำการพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการตรวจแยกระหว่างโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ

ปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

  • โรคอ้วนทานอาหารที่มีไขมันมาก รสเค็ม
  • สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่อง
  • ดื่มสุราในปริมาณมาก
  • ใช้สารเสพติด

โรคประจำตัวและความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง

  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • ไขมันคลอเรสเตอรอลสูง
  • เบาหวาน
  • โรคหัวใจเช่น ภาวะะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation, ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจติดเชื้อ (infective endocarditis)
  • โรคหลอดเลือดแดงที่คอตีบ (severe carotid or vertebral stenosis)
  • ภาวะเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดผิดปกติ (Polycythemia vera or Essential thrombocytosis)
  • ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Thrombophilia)
  • โรคหลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรค Moyamoya, Cerebral autosomal dominant and subcortical leukoencephalopathy (CADASIL)
  • มีการเซาะตัวของผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง (carotid or vertebral artery dissection)

ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

  • อายุ : ผู้สูงวัยอายุ 55 หรือมากกว่า มีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าในการเกิดโรค มากกว่าคนหนุ่มสาว
  • เพศ : เพศชายมีความเสี่ยงสูงมากกว่าเพศหญิงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง แต่เพศหญิงมักจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองเมื่ออายุมากขึ้น และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง
  • การใช้ฮอร์โมน : การใช้ยาคุมกำเนิดหรือการใช้ฮอร์โมนบำบัด ที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

โรคหลอดเลือดสมองสามารถส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว หรือส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความพิการถาวร ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สมองขาดเลือด และขึ้นอยู่กับบริเวณสมองที่ได้รับผลกระทบ

  • อัมพาต
    ผู้ป่วยอาจจะเกิดอัมพาตส่วนใดส่วนหนึ่งบนร่างกาย หรือไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้า อาการอาจจะเกิดขึ้นบริเวณด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้าหรือแขน
  • ปัญหาการพูดหรือการกลืน
    ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองคือผู้ป่วยจะมีปัญหาในการพูด การกลืน หรือการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ผู้ป่วยจะพบปัญหาด้านภาษาอย่างเช่นการพูดคุย การพยายามทำความเข้าใจคำพูดของคนอื่น การอ่านและการเขียนหนังสือ
  • สูญเสียความทรงจำ หรือปัญหาเกี่ยวกับสมอง
    โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจะเกิดอาการสูญเสียความทรงจำ ผู้ป่วยบางคนอาจจะพบปัญหาเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ หรือการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ
  • อารมณ์แปรปรวน
    ผู้ป่วยจะพบปัญหาในการบริหารอารมณ์ และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า
  • เจ็บปวดหรือชาบริเวณร่างกาย
    ผู้ป่วยจะรู้สึกปวด หรือชาบนร่างกาย โดยเฉพาะส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง ยกตัวอย่างเช่นหากโรคส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกในแขนด้านซ้าย ผู้ป่วนจะเริ่มรู้สึกเจ็บแปล๊บแขนด้านดังกล่าว
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงและเกิดการทอดทิ้งตัวเอง (Self-neglect)
    โรคอาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มมีการปลีกแยกจากสังคม และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในการดูแลตัวเองและทำกิจวัตรประจำวัน

วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองและภาวะเสี่ยง

  • ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน

   ในระยะแรกที่เกิดอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แพทย์จะทำการประเมินผู้ป่วย หากมีข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic) และตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTA Brain) ในกรณีที่มีหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่อุดตัน แพทย์จะรักษาโดยการใช้สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบและขึ้นไปที่สมอง (Endovascular Procedure) เพื่อนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดออกมา (Mechanical Thrombectomy)

การใช้ยาเพื่อการรักษา

แพทย์จะทำการสั่งยาเหล่านี้ เพื่อช่วยลดโอกาสการกำเริบของโรคหลอดเลือดสมอง 

- ยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด(anticoagulant)
- ยาลดไขมัน (statin)
- ยาลดความดันโลหิต
- ยารักษาโรคเบาหวาน

แนวทางการรักษารูปแบบอื่นๆ

   ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดที่คอตีบรุนแรง (severe carotid stenosis) และมีอาการของสมองขาดเลือด แพทย์จะรักษาโดยการทำผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อนำเอาส่วนของไขมันที่หลอดเลือดออกมา (carotid endarterectomy) หรือการใส่ขยายหลอดเลือดที่ตีบและใส่ขดลวด (carotid angioplasty and stenting)

  • การรักษาภาวะหลอดเลือดสมองแตก

หากมีอาการภาวะหลอดเลือดสมองแตก มีการพิจารณาการรักษา ดังนี้

- การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน
- การผ่าตัดสมอง
- ในกรณีที่เกิดจากหลอดเลือดโป่งพอง พิจารณาการรักษาด้วยการสวนหลอเลือดและใส่ขดลวด (coiling)
- โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ (cerebral arteriovenous malformation) พิจารณาการรักษาด้วยการสวนหลอดเลือดและใช่สารอุดหลอดเลือดที่ผิดปกติ      (transarterial/venous embolization) หรือ radiosurgery

แนวทางการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
   การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ควรป้องกันก่อนการเกิดโรคและควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการ ตีบ อุดตัน หรือแตก โดยมีแนวทางการป้องกันโรค ดังนี้ 

  • ปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • รับประทานผักและผลไม้ให้มากยิ่งขึ้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ลดการดื่มสุรา
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. กฤษณะ ปานสัมฤทธิ์ แพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.