ไข้หวัดใหญ่ เป็นง่าย...ป้องกันได้
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ระบาดได้ทั้งปีและพบมากในฤดูฝน เชื้อไวรัสจะอยู่ใน เสมหะ น้ำมูก และน้ำลายผู้ป่วย ติดต่อง่าย สามารถแพร่เชื้อได้โดยการไอ จาม หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน สามารถติดได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และอาจจะมีอาการรุนแรงในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำได้ โดยอัตราการเสียชีวิตมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต เป็นต้น การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลมากที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดโรคแทรกซ้อน
ไข้หวัดทั่วไปต่างจากไข้หวัดใหญ่อย่างไร
ไข้หวัดทั่วไป เป็นการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ ส่วนไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อที่เรียกว่า Influenza virus เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงกว่าไข้หวัด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจมีภาวะปอดอักเสบได้
อาการของโรค
- ไข้สูง ระยะฟักตัว 1 - 4 วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน
- เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ เสมหะ
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้
- ปวดศีรษะ
- ปวดตามแขน ขา ปวดข้อ ปวดรอบตา ปวดเมื่อยตามตัว
- อาเจียน หรือท้องเสีย
- อาการมักเป็นมากในช่วง 2 – 4 วันแรก หลังจากนั้นมักดีขึ้น และโดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์
สำหรับรายที่อาการรุนแรง มักเกิดในผู้ป่วยปัจจัยเสี่ยง ซึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นๆ ด้วยเช่น
- พบอาการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หรือมีอาการหัวใจวาย
- ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง
- ระบบหายใจ มีหลอดลมอักเสบและปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย
ใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
- ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หอบหืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
- ผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่มีอาการ
- โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลทั่วไปก็สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีได้ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ดีอย่างไร
- กระตุ้นและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- ลดอัตราการเสียชีวิต
- ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา นอนโรงพยาบาล
- ปกป้องผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ
วิธีป้องกันกันไข้หวัดใหญ่ เช่น
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หากเลี่ยงไม่ได้ ต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี
การรักษาไข้หวัดใหญ่
- หากยังมีอาการไม่มาก เช่น ไข้ต่ำ และยังพอรับประทานอาหารได้ ให้รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณภูมิปกติ
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงควรรีบไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส (ชนิดกิน) ซึ่งควรได้รับยาภายใน 48 ชม. หลังเริ่มป่วยซึ่งจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าได้ยาหลัง 48 ชม. ไปแล้ว
แม้ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรง และเป็นอันตรายส่งผลต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป ถ้าเรารู้เท่าทันและป้องกันตัวเอง ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และฉีดสม่ำเสมอทุกปี จะช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคได้
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. วีนิตา พิพิธประพัฒน์ แพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อ, เบาหวาน, ไทรอยด์
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ