Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ไข้เลือดออก เสี่ยงที่สุดในหน้าฝน

25 มิ.ย. 2566


   ไข้เลือดออก บางคนเดินเข้าโรงพยาบาลไปนอนรักษาง่ายๆ ไม่กี่วันก็กลับบ้าน แต่ผู้ป่วยบางท่านกลับมีอาการวิกฤติจนถึงขั้นเข้าห้องไอซียู ให้เลือด ให้น้ำเกลือ หากร่างกายอ่อนแอจนไม่สามารถต้านทานไหว หรือภาวะแทรกซ้อน ก็อาจเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วันได้เช่นกัน ซึ่งการได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มแรกอย่างใกล้ชิดในทุกช่วงของอาการก็จะช่วยให้พ้นจากระยะวิกฤติได้เช่นกัน 
   โรคไข้เลือดออก (dengue fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ จัดอยู่ในกลุ่ม flavivirus สามารถแพร่กระจายได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าสถานการณ์ระบาดของไข้เลือดออกในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนจะรุนแรงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนทำให้ยุงแต่ละชนิดสามารถแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นทำให้การแพร่กระจายของโรคเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
อาการต่างๆ ที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
   1. ระยะแรก (ระยะไข้สูง) ระยะนี้มักเบื่ออาหารไม่ค่อยมีอาการจำเพาะ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอยหลายวัน โดยเฉลี่ย 5-6 วัน อาจมีการปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ในช่วงฤดูที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก หากลูกมีไข้สูงหลายวัน คุณพ่อคุณแม่ควรนึกถึงการติดเชื้อไข้เลือดออกด้วยเสมอ ควรพาลูกไปพบแพทย์ ไม่ควรพยายามรักษาเอง และหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและเกิดปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงเลือดไม่แข็งตัวเมื่ออาการของไข้เลือดออกเป็นรุนแรงถึงขั้นระยะช็อกได้
  2. ระยะวิกฤติ (ระยะ 3 วันอันตราย อาจเสี่ยงกับอาการช็อกได้) ผู้ป่วยมักมีไข้มาแล้วหลายวัน อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น อาจมีอาการปวดเมื่อยตัวมากขึ้น ปัสสาวะออกลดลง ดูซึมลง หอบเหนื่อย รวมถึงมีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร ผิวหน้า-ฝ่ามือ-ฝ่าเท้าดูแดงๆ ในช่วงนี้เด็กบางคนอาจพูดคุยได้ดี แต่ก็ยังต้องคอยตรวจวัดชีพจรและความดันโลหิตเป็นช่วงๆ บ่อยๆ ร่วมกับดูปริมาณสารน้ำและอาหารที่รับประทานเข้าไปเทียบกับปริมาณปัสสาวะที่ออกมาในแต่ละช่วงของวัน ในบางรายอาจมีอาการท้องอืดมากขึ้น กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะออกลดลง ดูซึมลง หอบเหนื่อย ร่วมกับไข้ที่ลดลงเป็นอุณหภูมิปกติ ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าเด็กกำลังจะหายจากไข้เลือดออกแล้ว ทั้งๆ ที่เด็กอาจกำลังเข้าสู่ระยะช็อกที่จะมีความรุนแรงตามมาในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ก็ได้
   3. ระยะฟื้นตัว เป็นระยะหลังไข้ลงโดยไม่มีอาการช็อก โดยพบว่าเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสูงขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น ปัสสาวะเริ่มออกมากขึ้น การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองที่เคยซึมรั่วไปอยู่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานเป็นปกติ จากนั้นในอีก 48-72 ชั่วโมงต่อมาจะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่าหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มมีความอยากอาหารบ้าง อาการปวดท้องและท้องอืดจะดีขึ้น รู้สึกมีแรงมากขึ้น มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าโดยไม่มีการลอกตัวของผิวหนัง
การรักษา
   การรักษาโรคไข้เลือดออกยังไม่มียาจำเพาะหรือยาต้านไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อช่วยชะลอความรุนแรงและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการดำเนินของโรคให้พ้นภาวะวิกฤติ เช่น ให้ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือรักษาภาวะขาดน้ำ ถ้ามีเลือดออกผิดปกติจะให้เกร็ดเลือดเข้มข้น หรือ สารประกอบเลือด (พลาสมา) หากมีน้ำท่วมปอดให้ออกซิเจน ยาขับปัสสาวะ หรือถ้ามีการหายใจล้มเหลวอาจจะต้องพิจารณาใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
   สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านโรคเลือดบางอย่าง เช่น ภาวะเลือดออกง่าย เพิ่งได้รับการรักษามะเร็งเม็ดเลือด ก็เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลรักษาด้วยความระมัดระวัง เพราะเมื่อเข้าสู่ระยะวิกฤติของไข้เลือดออกอาจเกิดความรุนแรงได้มาก
ป้องกันไข้เลือดออก..!!
1. ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถกำจัดเชื้อไข้เลือดออกได้ แต่สามารถเสริมภูมิด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเดงกี 3 เข็ม เพื่อลดความรุนแรงของโรค ดังนี้
ลดความเสี่ยงด้วยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกครั้งแรกในประเทศไทยเหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 9 - 45 ปี
  • สามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ Dengue 1, 2, 3 และ 4
  • ป้องกันไข้เลือดออกได้ 6%
  • ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล 8%
  • ลดความรุนแรงของโรค 9%
กลุ่มผู้มีความเสี่ยง ไม่ควรรับวัคซีน
  • กลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัด
  • หญิงตั้งครรภ์
  • หญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร
2. ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ หรือติดมุ้งลวดใช้กันยุงในห้องนอนแบบมิดชิด
3. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและใกล้เคียง ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ เช่น แจกัน ทุกสัปดาห์ ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดปราศจากเศษวัสดุที่อาจมีน้ำขังได้ เช่น ขวดเก่า กระป๋องเก่า เป็นต้น
   อย่างไรก็ดี ในช่วงฤดูไข้เลือดออกหากมีอาการไข้สูงหลายๆ วัน ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะหากล่าช้าเกินไป ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในที่สุด

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ชัชวาล  อึ้งธรรมคุณ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.