ไม่กินเค็ม ก็เป็นโรคไตได้
“กินเค็มระวังเป็นโรคไต” ประโยคนี้หลายคนมักใช้เตือนคนที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม แต่โรคไตไม่ได้เข้าโจมตีแต่ผู้ที่ทานรสเค็มเพียงอย่างเดียว โรคนี้สามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่มาจากการใช้ชีวิตประจำวันของเราเองซึ่งส่งผลให้เราเป็นโรคร้ายนี้ได้ด้วยเช่นกัน
ทำความรู้จักโรคไต
“ไต” มีหน้าที่กำจัดของเสีย ควบคุมความเป็นกรด-ด่างในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ และควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายอีกด้วย ดังนั้นเมื่อไตทำงานผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้มีของเสียคั่งในร่างกาย สมดุลความเป็นกรดด่างในเลือดเสียไป ระดับเกลือแร่ผิดปกติ หรือมีน้ำเกินในร่างกาย โดยโรคไตนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ และที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไตเรื้อรังจากความดันโลหิตสูง เบาหวาน การกินยาแก้ปวดบางชนิด ยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร ไตอักเสบ นิ่วในไต
สาเหตุของการเกิดโรคไต
- จากพันธุกรรม โดยอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือค่อยๆ แสดงอาการในภายหลังก็ได้
- เกิดจากโรคอื่นที่มีผลกระทบกับไต เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป
- นิ่วในไต
- โรคไตอักเสบ
- การได้รับยาแก้ปวดบางชนิด ยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอน ยาสมุนไพรบางอย่าง
โซเดียมสูงเสี่ยงไต
โซเดียม คือเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากอาจจะทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไต เพราะเมื่อมีโซเดียมมากไตก็จะยิ่งทำงานหนักผลที่ตามมาคือ ในหน่วยไตจะเกิดความดันสูงขึ้นนำพาไปสู่ภาวะไตเสื่อมในที่สุด
หลายท่านพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงจำพวกน้ำปลา และเกลือ แต่โซเดียมยังอยู่ในอาหารอีกหลายรูปแบบ ได้แก่
- เครื่องปรุงรส เช่น ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มสุกี้
- อาหารแปรรูป เช่น เบคอน แฮม ผักกาดดอง และไข่เค็ม
- อาหารกึ่งสำเร็จรูป
พฤติกรรมทำร้าย “ไต” ทั้งที่ไม่ได้กินเค็ม
- ทานอาหารรสจัด ไม่ใช่แค่รสเค็มจัด แต่อาหารรสจัดรวมไปถึง อาหารหวานจัด เผ็ดจัด หรือแม้กระทั่งมันจัด อาหารรสจัดทำให้ไตทำงานหนักขึ้น จึงมีส่วนทำให้เป็นโรคไตได้เช่นเดียวกันกับอาหารรสเค็ม
- ไม่ออกกำลังกาย การไม่ออกกำลังกายเป็นสาเหตุของโรคได้ อาทิ โรคอ้วน ซึ่งสามารถนำไปสู่โรคอื่นๆ ได้ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันอุดตันเส้นเลือด ไขมันพอกตับ เส้นเลือดสมองหรือเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งโรคดังกล่าวจะนำไปสู่โรคไตเรื้อรังได้
- ดื่มน้ำน้อย การดื่มน้ำน้อยเป็นสาเหตุของหลายๆ โรค รวมไปถึงโรคไตด้วย เพราะไตฟอกของเสียในร่างกาย หากดื่มน้ำน้อยเกินไปจะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลงซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุของไตวายได้
- ทานอาหารสำเร็จรูป แม้ว่าคุณอาจจะบอกว่าไม่ใช่คนทานเค็ม แต่หากคุณใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ อาหารกระป๋องต่างๆ หรือแม้กระทั่งน้ำอัดลม โซดา และเครื่องดื่มบางประเภท คุณจะได้รับโซเดียมเข้าไปในร่างกายในปริมาณสูงโดยที่คุณไม่รู้ตัว
- ความดันโลหิตสูง หากใครมีอาการความดันโลหิตสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคไตตามมาด้วย เพราะหากปล่อยให้เป็นความดันสูงต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รีบรักษา จะนำไปสู่โรคไตเรื้อรังได้
อาการของผู้ป่วยโรคไต
เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ได้ การเกิดความผิดปกติกับไตจึงเป็นเรื่องอันตราย โดยในช่วงแรกไม่มีสัญญาณเตือนของผู้ป่วยโรคไต แต่อาการจะปรากฏออกมาในระยะท้ายๆ ที่ไตได้รับความเสียหายไปมากแล้ว จนในระดับสูงสุดอาจเกิดอาการไตวาย และเสียชีวิตได้ อาการของผู้ป่วยโรคไตที่ปรากฏมีดังนี้
- ปัสสาวะเป็นเลือด ปกติแล้วปัสสาวะจะมีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองเข้ม ขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่มน้ำในขณะนั้น แต่ถ้าพบว่าปัสสาวะมีเลือดปน อาจจะเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
- ปัสสาวะเป็นฟอง เกิดจากการมีโปรตีนไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งแสดงถึงการทำงานของไตที่ผิดปกติ หรือเป็นอาการของโรคไตเรื้อรังได้
- ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ ผู้ที่ไตมีความผิดปกติ เช่น โรคไตเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถดูดน้ำกลับเก็บได้ปกติ จึงทำให้อาจจะมีปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
- มีอาการบวมของหน้าและเท้า
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ
- มีอาการปากขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ทำให้บางรายน้ำหนักลด แต่บางรายผู้ป่วยอาจจะตัวบวม ทำให้น้ำหนักขึ้นก็ได้
หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตเรื้อรัง
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคเกาต์ นิ่วในไต โรคอ้วน เป็นต้น
- มีมวลไตลดลง
- คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคไต
- อายุมากกว่า 60 ปี
การรักษาโรคไต
- รักษาตามอาการ เช่น การรับประทานยา และควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงยาบางประเภท
- รักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อช่วยขจัดของเสียทดแทนไตที่เสียไป สามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้
- การฟอกไตผ่านทางช่องท้อง อาศัยช่องท้องในการฟอกเลือด โดยจะฟอกวันละ 4 รอบ
- การปลูกถ่ายไต โดยการนำไตจากผู้บริจาคใส่ให้ผู้รับไต
อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรรับประทาน
ดูแลสุขภาพไตให้แข็งแรงโดยเน้นการรับประทานอาหารเหล่านี้
- โปรตีนจากพวกไข่ หรือเนื้อสัตว์ โดยควรรับประทานจำพวกปลา หรือเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำในปริมาณที่เหมาะสม
- เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า หรือน้ำมันมะกอกแทน
- รับประทานผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ เช่น แอปเปิ้ล องุ่น ชมพู่ แตงกวา เป็นต้น
- ดื่มน้ำเปล่า ในปริมาณพอเหมาะ ลดการกินน้ำหวานต่างๆ
- ใช้วิธีการย่าง ต้ม และอบแทนวิธีการทอด
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคไต
สำหรับผู้ป่วยโรคไต นอกจากการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มแล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังนี้
- อาหารที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบโดยเฉพาะพวกอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูแฮม หมูยอ เบคอน ต่างๆ
- เครื่องปรุงรส ซอสปรุงรส น้ำจิ้มต่างๆ
- อาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า ผักกาดดอง
- อาหารกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง หอยลายกระป๋อง เพราะอาหารพวกนี้มีปริมาณโซเดียมสูงมาก
- อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น กะทิ ไข่แดง หมูสามชั้น เนื้อสัตว์ติดมัน
- อาหารที่มีส่วนผสมของเนยและครีม เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมปัง รวมถึงของหวาน ขนมที่ใส่กะทิ
- ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เช่น มันฝรั่งทอด เฟรนซ์ฟรายส์ เป็นต้น
การจัดการโภชนาการอาหารในแต่ละวันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียน และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คือการตรวจสุขภาพไตอย่างสม่ำเสมอเพื่อรู้เท่าทันโรคไตที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวนั่นเอง
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สิทธา จิริยะสิน แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์สาขาโรคไต
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง ชั้น 1 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง