Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

เรื่องวัคซีน HPV ที่ผู้หญิงต้องรู้

23 ธ.ค. 2565


เชื้อไวรัสเอชพีวี คืออะไร

        เชื้อไวรัสเอชพีวี คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง  เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปาก และมะเร็งอวัยวะเพศชาย แบ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง อันก่อให้เกิดมะเร็ง  มี 15 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ 16 , 18 และสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ คือสายพันธุ์ 6 , 11 ซึ่งมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย รองจากมะเร็งเต้านม ในสตรีพบรายใหม่ ปีละ 10,000 ราย และทำให้เสียชีวิต ปีละ 6,500 ราย หรือ วันละ 17 ราย

เชื้อไวรัสเอชพีวี ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร

          เชื้อไวรัสเอชพีวีถ่ายทอดจากการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งทางช่องคลอดหรือทวารหนัก โดยเชื้อไวรัสเอชพีวีจะผ่านรอยถลอกที่ผิวเยื่อบุและเข้าไปที่ปากมดลูก ทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลง จนเป็นมะเร็งในที่สุด กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย เช่น ก่อนอายุ 18 ปี  ,การมีคู่นอนหลายคน, การสูบบุหรี่ ,การติดเชื้อ HIV

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทำได้อย่างไร

      การลดละพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว การใส่ถุงยางอนามัย การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ และการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี

วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ฉีดได้ทั้งเพศหญิง และเพศชาย ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป กลุ่มอายุที่แนะนำคือ อายุ 9-26 ปี จะมีประสิทธิภาพดีสุด และในคนที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์  แต่หลังอายุ 26 ปี ก็สามารถฉีดได้ โดยทั่วไปผู้ที่อายุ 9-15 ปี จะฉีด 2 เข็ม คือ 0 และ 6 เดือน แต่ถ้าอายุมากกว่า 15 ปี จะฉีด 3 เข็ม คือ 0 ,2 ,6  เดือน ประสิทธิภาพนานอย่างน้อย 14 ปี และมีโอกาสจะยาวตลอดชีวิต

วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีมีกี่ชนิด

มี 2 ชนิดคือ

  1. วัคซีน 4 สายพันธุ์ ) มีสายพันธุ์6, 11, 16, 18 สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 70%
  2. วัคซีน 9 สายพันธุ์ มีสายพันธุ์6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 90% ละทั้งสองชนิดป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 90%

จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกหรือไม่ หลังการฉีดวัคซีน

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ยังมีความจำเป็น ถือเป็นการป้องกันและค้นหาภาวะเสี่ยงก่อนการเป็นโรค โดยสามารถค้นหาเซลล์ผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจคัดกรองเท่านั้น แนะนำให้ตรวจสม่ำเสมอเป็นประจำ โดยปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพราะว่าวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ไม่ได้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100%

สนับสนุนข้อมูลโดย : นายแพทย์กิตติ วงษ์กิติโสภณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ศูนย์สตรี

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.