ห่างไกลมะเร็งลำไส้ แค่ใส่ใจความเสี่ยง
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่มากกว่าหนึ่งหมื่นคนต่อปีและมีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เสียชีวิตมากกว่าหกพันคนต่อปี
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญ ประกอบด้วย
- อายุที่มากขึ้น
- การมีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือตรวจพบติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์
- การรับประทานอาหารกากใยต่ำ ไขมันสูง
- ภาวะอ้วนลงพุง เบาหวาน
ความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่บางอย่างเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขและป้องกันได้ เช่น อายุที่มากขึ้น หรือการมีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ปัจจัยเสี่ยงหลายๆอย่างเป็นสิ่งที่เราสามารถแก้ไขได้และป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็น การไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีกากใย หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนัก เพื่อลดโอกาสการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคตได้
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- การขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระลีบเล็กลง
- ถ่ายเป็นเลือด หรือมีมูกเลือดปนในอุจจาระ
- ปวดท้องเรื้อรัง แน่นท้อง ไม่สบายท้อง
- ท้องผูกเรื้อรัง รู้สึกถ่ายไม่สุด
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
มะเร็งลำไส้ระยะเริ่มต้น มักจะไม่มีอาการใดๆ เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ท้องผูก ถ่ายเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มะเร็งมักจะเป็นมาก เริ่มเข้าสู่ระยะลุกลามไปแล้ว
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้นรักษาได้ โอกาสหายขาดสูง แต่มะเร็งระยะลุกลามรักษาค่อนข้างยากกว่า อาจจะรักษาไม่หายขาด และมีโอกาสเสียชีวิตสูง ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้จึงมีความสำคัญอย่างมาก
ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ ผู้ที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ได้แก่ คนทั่วไปทั้งผู้ชายและผู้หญิง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 45 - 50 ปีขึ้นไป
หากมีความเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น
- เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเคยตรวจพบติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่มาก่อน
- มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเคยตรวจพบติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
- เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าปกติ ควรได้รับการตรวจคัดกรองเร็วขึ้น และถี่ขึ้นกว่าคนทั่วไป
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ที่มีข้อบ่งชี้ในการตรวจคัดกรอง สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น
- การตรวจหาเลือดในอุจจาระ ทุกปี
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง ทุก 5 - 10 ปี
- การเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ ทุก 5 ปี
- การตรวจหา DNA ในอุจจาระ ทุก 1 - 3 ปี
อย่างไรก็ตาม วิธีที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน และได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่การการตรวจหาเลือดในอุจจาระทุกปี และการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างทุก 5 - 10 ปี
การตรวจหาเลือดในอุจจาระ
เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในปัจจุบัน
ข้อดี
- ไม่ต้องทานยาระบายเตรียมลำไส้ สามารถเก็บอุจจาระแล้วตรวจได้เลย
- ค่าใช้จ่ายในการตรวจน้อยกว่า
ข้อจำกัด
- ความไวในการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำกว่า ดังนั้นต้องตรวจทุกปี
- โอกาสตรวจเจอติ่งเนื้อหรือเนื้องอกระยะเริ่มต้นน้อยกว่า
- หากพบเลือดในอุจจาระ ต้องส่องกล้องทางเดินอาหารอีกครั้งเพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันต่อไป
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง
เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและมีความไวสูงที่สุดในปัจจุบัน
ข้อดี
- มีความไวในการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงที่สุดเพื่อเทียบกับการตรวจคัดกรองวิธีอื่น
- ไม่ต้องตรวจบ่อย หากผลปกติ ควรตรวจคัดกรองซ้ำอีกครั้ง ที่ 5-10 ปี หลังการตรวจครั้งแรก
- หากพบติ่งเนื้อหรือเนื้องอกในลำไส้ สามารถผ่าตัดหรือเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อด้วยการส่องกล้องออกได้เลย
- สามารถตรวจเจอติ่งเนื้อตั้งแต่ระยะที่ยังไม่กลายเป็นมะเร็ง และตัดออกเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
ข้อจำกัด
- ต้องทานยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้ก่อนส่องกล้อง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการตรวจคัดกรอง
- ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจหาเลือดในอุจจาระ
ทั้ง 2 วิธีที่ทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เหมาะสมกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน ก็ไม่มีผิด ไม่มีถูก สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องตรวจคัดกรอง และ หัวใจที่สำคัญที่สุดคือความสม่ำเสมอในการตรวจคัดกรอง
ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตเราจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ แต่เราป้องกันได้ รักษาหายได้ ถ้าตรวจพบเร็ว
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. พีระนาท โชติวิทยธารากรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ศูนย์การแพทย์ :ระบบทางเดินอาหารและตับโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ