Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ไข้หวัดใหญ่ เป็นง่าย แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ชนิด 3 สายพันธุ์ / 4 สายพันธุ์

17 ก.ค. 2568


ทำความรู้จักโรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ระบาดได้ทั้งปีและพบมากในฤดูฝน เชื้อไวรัสจะอยู่ใน เสมหะ น้ำมูก และน้ำลายผู้ป่วย ติดต่อง่าย สามารถแพร่เชื้อได้โดยการไอ จาม หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน สามารถติดได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และอาจจะมีอาการรุนแรงในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำได้ โดยอัตราการเสียชีวิตมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต เป็นต้น การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลมากที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดโรคแทรกซ้อน

 

ไข้หวัดทั่วไปต่างจากไข้หวัดใหญ่อย่างไร

ไข้หวัดทั่วไป เป็นการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ ส่วนไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อที่เรียกว่า Influenza virus เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงกว่าไข้หวัด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจมีภาวะปอดอักเสบได้

 

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ สังเกตได้อย่างไร

  • ไข้สูง ระยะฟักตัว 1 - 4 วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน
  • เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ เสมหะ
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดตามแขน ขา ปวดข้อ ปวดรอบตา ปวดเมื่อยตามตัว
  • อาเจียน หรือท้องเสีย
  • อาการมักเป็นมากในช่วง 2 – 4 วันแรก หลังจากนั้นมักดีขึ้น และโดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน


สำหรับรายที่อาการรุนแรง มักเกิดในผู้ป่วยปัจจัยเสี่ยง
 ซึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นๆ ด้วยเช่น

  • พบอาการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หรือมีอาการหัวใจวาย
  • ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง
  • ระบบหายใจ มีหลอดลมอักเสบและปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย

 

ใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มคนอ้วน
  • กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3
  • กลุ่มผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ฯลฯ

แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลทั่วไปก็สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีได้ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่

สายพันธุ์วัคซีนไข้หวัดใหญ่

โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับซีกโลกใต้ปี ค.ศ. 2025 (Southern hemisphere (SH) 2025) ดังนี้

ชนิด 3 สายพันธุ์

ชนิด 4 สายพันธุ์

an A/Victoria/4897/2022 (H1N1) pdm09 -like virus

an A/Victoria/4897/2022 (H1N1) pdm09 -like virus

an A/Croatia/10136RV/2023 (H3N2) -like virus

an A/Croatia/10136RV/2023 (H3N2) -like virus

a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)
-like virus

a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)
-like virus

 

a B/Phuket/3073/2013 (B/Yamagata lineage) -like virus (สายพันธุ์ที่ WHO ยกเลิก เนื่องจากไม่พบการระบาดตั้งแต่ปี 2020*)

 

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีการปรับเปลี่ยนสูตรตามไวรัสที่ระบาดจริง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จะเป็นผู้กำหนดสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่จะนำมาผลิตวัคซีนตามไวรัส โดยที่ผ่านมาจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบัน ปี 2025 ไม่พบการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B/Yamagata มานานกว่า 4 ปี จึงมีความเสี่ยงต่ำมาก ไม่จำเป็นต้องรวมสายพันธุ์นี้อีกต่อไป และจะใช้วัดซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์แทน

ข้อมูลอ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุไว้ว่า

  1. WHO หรือ องค์การอนามัยโลก สนับสนุนการใช้วัดซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์แทนชนิด 4 สายพันธุ์ เนื่องจากพบว่าสายพันธุ์ B-Yamagata อาจสูญพันธุ์ เพราะไม่มีการตรวจพบอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2020
  2. การได้รับวัดซีน 4 สายพันธุ์ไม่มีประโยชน์เพิ่ม (และได้รับ Antigen เพิ่มเติมที่ไม่จำเป็นในร่างกาย)
  3. วัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ มีข้อมูลสนับสนุนว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอในกลุ่มเสี่ยงหลัก เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และบุคลากรทางการแพทย์)
  4. ต่อไปในอนาคต (ปี 2569 เป็นต้นไป) มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีคงเหลือเฉพาะ ชนิด 3 สายพันธุ์


การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ดีอย่างไร

  • กระตุ้นและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  • ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน
  • ลดอัตราการเสียชีวิต
  • ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา นอนโรงพยาบาล
  • ปกป้องผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ


การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

  • ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอจามทุกครั้ง หากจำเป็นต้องไปยังสถานที่ที่คนพลุกพล่านควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลล้างมือ เมื่อต้องสัมผัสราวบันได ราวบนรถโดยสาร สำหรับการล้างมือนั้นแนะนำให้ล้างมือให้นาน เพื่อให้มั่นใจว่าสะอาดและปลอดภัยจริงๆ
  • หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด หรือการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัด
  • หยุดเมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดการไปสถานที่ชุมชม หรือ หยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้บุคคลอื่น แม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
  • ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกๆ 1 ปี เพื่อป้องกันก่อนที่มีการระบาดเพราะเชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ตลอดเวลา ทำให้คนที่เคยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วสามารถป่วยได้อีก

 

สนับสนุนข้อมูลโดย: นพ.สัมพันธุ์ ธนกิจจำรูญ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัว

ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ตรวจสุขภาพและวัคซีน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ
ศูนย์ตรวจสุขภาพและวัคซีน

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.