Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

มิติใหม่ของข้อสะโพกเทียม

19 มี.ค. 2558


การผ่าตัดข้อสะโพกเทียม
   อาจจะไม่เป็นที่แพร่หลายเหมือนการผ่าตัดข้อเข่าเทียม แต่ก็เป็นการผ่าตัดที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเนื่องจากความผิดปกติของข้อสะโพกจะสร้างความทุพลภาพแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมากอาการของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของข้อสะโพกนอกจากจะมีอาการปวดในเวลาเดินแล้ว หากมีการเคลื่อนไหวของข้อที่ลดลงมากจะทำให้ไม่สามารถนั่งในท่าปกติหรือแม้แต่การใส่กางเกงหรือรองเท้าก็จะทำได้โดยยากลำบาก และในบางรายอาจทำให้ขาข้างที่ผิดปกติหดสั้นลงได้มากตั้งแต่ 5 ถึง 10 เซนติเมตร ทำให้เดินได้อย่างยากลำบากมาก

การผ่าตัดข้อสะโพกเทียม
 
 ข้อสะโพกเป็นข้อขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขา ประกอบด้วยเบ้าสะโพกซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมครึ่งทรงกลม และหัวกระดูกสะโพกซึ่งเป็นส่วนบนของกระดูกต้นขา มีลักษณะทรงกลมขนาดใหญ่กว่าลูกปิงปองเล็กน้อย การที่ข้อสะโพกมีลักษณะเป็นเบ้าและทรงกลมจึงทำให้มีการเคลื่อนไหวได้มากและในหลายทิศทาง อย่างไรก็ตามเมื่อข้อสะโพกมีความผิดปกตินอกจากจะทำให้เกิดความเจ็บปวดแล้ว การเคลื่อนไหวของข้อก็จะลดลงเป็นอย่างมาก สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ต้องผ่าตัดรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ข้อสะโพกเทียมนั้นผลิตขึ้นโดยลอกเลียนตามลักษณะของข้อสะโพกธรรมชาติโดยประกอบด้วยส่วน เบ้าสะโพกเทียม และหัวสะโพกเทียมเช่นเดียวกัน โดยตำแหน่งที่อุปกรณ์ทั้ง 2 ชิ้นสัมผัสกันจะเรียกว่า ผิวสัมผัสของข้อเทียม ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบของวัสดุที่แตกต่างกันอยู่หลายประเภท

ภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมที่พบได้บ่อย
  • กระดูกข้อสะโพกหัก เกิดได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนและมีอุบัติการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้นมากในปัจจุบัน
  • ภาวะหัวกระดูกสะโพกยุบตัวจากการขาดเลือดจากการได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อการรักษาโรคหรือผู้ที่ดื่มสุราปริมาณมากเป็นประจำ
  • ข้อสะโพกถูกทำลายจากโรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ และ เอสแอลอี(โรคพุ่มพวง)
  • ข้อสะโพกเสื่อมจากความผิดปกติของข้อสะโพกในวัยเด็กหรือจากอุบัติเหตุในอดีต
นวัตกรรมในการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม
   ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมและข้อเข่าเทียมผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมส่วนใหญ่เกิดจากข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมน้อย ทำให้ข้อเข่าเทียมมีความทนทานและอายุการใช้งานที่พอเพียง ในทางตรงข้ามผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดสะโพกเทียมจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและมีกิจกรรมมาก ทำให้ข้อสะโพกเทียมในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอายุการใช้งานที่ไม่ยืนยาวและต้องผ่าตัดซ้ำหลายครั้ง
   ในปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาวัสดุรุ่นใหม่เพื่อใช้ผลิตผิวสัมผัสของข้อสะโพกเทียมให้มีการสึกหรอต่ำและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น วัสดุที่ถูกยอมรับและนำมาใช้กันมากในปัจจุบันได้แก่เซรามิคซึ่งเป็นสารประกอบระหว่าง อลูมินา (Al2O3) และ เซอร์โคเนีย (ZrO2) มีสีชมพู ผิวมันวาว โดยผิวข้อสะโพกเซรามิคจะอัตราการสึกหรอที่ต่ำผิวข้อสะโพกที่เทียมรุ่นมาตรฐานที่เป็นโลหะอัลลอย และพลาสติกโพลีเอทิลีนถึง 50 เท่า ทำให้เชื่อว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างยาวนานจนอาจถึงตลอดชีวิต แม้แต่ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยก็ตาม

การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม
 
 นอกจากวัสดุผิวสัมผัสที่ทันสมัยแล้ว การผ่าตัดข้อสะโพกเทียมในปัจจุบันยังประกอบด้วย การผ่าตัดชนิดแผลเล็กบาดเจ็บน้อยและการควบคุมความปวดด้วยยาและวิธีการทางวิสัญญีแบบร่วมสมัย ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้ในระยะเวลา 1-2 วันหลังการผ่าตัด และกลับบ้านได้ภายในเวลา 3-5 วันหลังผ่าตัด สำหรับการกลับมาทำงานและใช้ชีวิตตามปกติจะใช้เวลาประมาณ 8-12 สัปดาห์ภายหลังการผ่าตัด

สนับสนุนข้อมูลโดย 
อ.นพ.สีหธัช งามอุโฆษ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ ด้านการผ่าตัดข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล โทรศัพท์ 1745 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.