Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ศูนย์รังสีวินิจฉัย

การบริการตรวจทางรังสีวิทยา

   รังสีวินิจฉัย หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อแผนกเอกซเรย์ ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคโดยอาศัยเครื่องมือทางรังสีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงหลายชนิด ซึ่งในการสร้างภาพทางรังสีวินิจฉัยในแต่ละการตรวจจะใช้เครื่องมือที่มีความจำเพาะ ขึ้นกับลักษณะอาการ วัตถุประสงค์ของการตรวจ และลักษณะทางกายวิภาคของอวัยวะที่ต้องการตรวจ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับบริการได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยมีบริการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องมือทางรังสีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง  ดังนี้

  1. การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI (Magnetic Resonance Imaging) 1.5 Tesla
  2. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan (Computed Tomography) 128 Slice
  3. การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) 
  4. การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก BMD (Bone Mineral Density)
  5. การตรวจเต้านมระบบดิจิตอล (Digital Mammogram)
  6. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ฟันระบบดิจิตอล (Dental CT Scan)
  7. การตรวจเอกซเรย์ฟันชนิดทั้งปากระบบดิจิตอล (Dental Panoramic)
  8. การตรวจเอกซเรย์ทั่วไประบบดิจิตอล (Digital General x-ray)

1. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI (Magnetic Resonance Imaging) 1.5 Tesla

ข้อมูลเบื้องต้น

   เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (1.5 Tesla) ที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สำหรับตรวจอวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกาย   โดยการตรวจผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ในสนามแม่เหล็ก การตรวจดังกล่าวไม่มีรังสีเอกซ์และมีความปลอดภัย สามารถตรวจหาความผิดปกติของสมอง กระดูกสันหลัง เต้านม ช่องท้อง รยางค์ (แขนและขา) ข้อต่อต่างๆ และระบบหลอดเลือด โดยการตรวจชนิดนี้จะให้ภาพที่มีรายละเอียดของเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ได้ดี สามารถแยกเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออกจากเนื้อเยื่อปกติได้ชัดเจน ช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  การตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่องที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์แคบๆ  ซึ่งจะมีความกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร และจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างไป ขึ้นกับระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ
   ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาฉีดร่วมกับการตรวจ MRI (Gadolinium based) หรือในบางการตรวจ MRI มีการเตรียมตัวเฉพาะ เช่น การงดรับประทานอาหาร น้ำ หรือยาประจำบางชนิด ก่อนเข้ารับการตรวจ โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งขั้นตอนการตรวจโดยละเอียดในวันที่มานัดตรวจ

การเตรียมตัวตรวจ

  • กรุณาหลีกเลี่ยงการแต่งหน้า เนื่องจากเครื่องสำอางบางชนิด มีส่วนผสมของโลหะ เช่น มาสคาร่า อายชาโดว์ อาจทำให้เกิดภาพบิดเบี้ยวไป (distortion) เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพ และหลีกเลี่ยงการตรวจในผู้ที่ร้อยไหมทองคำ
  • ก่อนเข้ารับการตรวจ เจ้าหน้าที่จะทำการทวนตรวจสอบประวัติผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการรับการตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Assessment & History of Magnetic Resonance Imaging: MRI) จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการอธิบายขั้นตอนการตรวจและรายละเอียดการปฏิบัติตัวให้ท่านทราบในวันตรวจ ทั้งนี้การปฏิบัติตัวขณะเข้าตรวจ MRI จะมีรายละเอียดการปฏิบัติตัวที่แตกต่างกัน
  • ท่านจะได้รับการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดโรงพยาบาล โดยถอดเครื่องประดับทุกชนิด (เช่น ต่างหู สร้อยคอ กิ๊บ กำไล) นำโทรศัพท์มือถือ นาฬิกา บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต หรือบัตรอื่นๆที่ใช้แถบแม่เหล็กบันทึกอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ เครื่องช่วยหูฟัง ฟันปลอม ออกก่อนเข้าตรวจทุกครั้ง
  • ท่านควรปัสสาวะก่อนเข้าห้องตรวจ เนื่องจากเป็น การตรวจที่ละเอียดและใช้เวลานาน ประมาณ 30-180 นาที ตามประเภทการตรวจ
  • ในการตรวจแต่ท่านควรนอนให้นิ่งที่สุด เพื่อให้ได้ภาพการตรวจที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยภาพที่แม่นยำ
  • ในขณะที่เครื่อง MRI กำลังทำงาน จะมีเสียงดังรบกวนท่านเล็กน้อย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมอุปกร์ช่วยลดเสียงสวมใส่ให้ท่านเพื่อลดเสียงรบกวน
  • การตรวจ MRI ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและปลอดภัย ท่านจึงสามารถเข้ารับการตรวจด้วยความรู้สึกผ่อนคลายหากท่านมีความกังวลหรือกลัวที่จะอยู่คนเดียวในห้อง หรือ กลัวที่แคบ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ในระหว่างการตรวจจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลท่านอยู่ตลอดเวลา หากท่านมีปัญหาหรือเกิดความกังวลในระหว่างการตรวจท่านสามารถบีบลูกบอลฉุกเฉิน (Emergency Ball) เพื่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ทันที

ระยะเวลาทำหัตถการ : 30 – 180 นาที

คำแนะนำอื่นๆ

  • กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนตรวจ ถ้าท่านมีความกังวลในการเข้าตรวจ MRI หรือกลัวที่แคบ ซึ่งทางห้องตรวจจะให้ญาติเข้าไปอยู่เป็นเพื่อนด้วยได้ขณะทำการตรวจ

ข้อจำกัดในการตรวจ

  • ผู้ป่วยที่มีเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) ต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษ
  • ผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม (Artificial Cardiac valve)
  • ผู้ป่วยที่ใส่ Stent ที่หลอดเลือดหัวใจต้องได้รับการยืนยันจากแพทย์ที่ใส่ Stent ว่าเป็น Stent ชนิดใดจะทำ MRI ได้หรือไม่ (ปัจจุบัน Stent ที่หลอดเลือดหัวใจ ถ้าเป็นรุ่น MRI compatible สามารถทำได้ทันทีไม่มีผลเสียใดๆ)
  • ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัด clips หรือโลหะต่างๆ
  • ผู้ป่วยที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือโลหะอยู่ในร่างกายเช่นเคยถูกยิงมีกระสุนค้างอยู่ตามร่างกาย
  • ผู้ป่วยที่กลัวที่แคบ (Claustrophobia)
  • ผู้ป่วยที่ใส่เหล็กดัดฟัน ถ้าต้องทำ MRI ตรวจในช่วงบริเวณ สมองถึงกระดูกคอควรต้องถอดเอาเหล็กดัดฟัน ออกก่อน เพราะจะมีผลต่อความชัดของภาพ
  • ผู้ป่วยที่ร้อยไหมชนิดที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ เช่น ไหมทองคำ
  • ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกรณีที่มีการฉีดยาร่วมด้วย (Gadolinium based) อาจมีโอกาสเกิดการรั่วของสารออกนอกหลอดเลือดและมีโอกาสแพ้สาร Gadolinium based ซึ่งอาจเกิดภาวะไม่รุนแรง เช่นผื่นคัน บวมแดง จนถึงภาวะรุนแรง เช่น ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง หอบเหนื่อย ภาวะหายใจขัดข้องหรือถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะในคนที่มีประวัติแพ้ยา หรือเคยแพ้สาร Gadolinium based ก่อน หรืออาจมีอาการปวดบวมบริเวณตำแหน่ง หรือบวมช้ำบริเวณที่ทำการฉีด หรืออาจเกิดการแตกหรือรั่วของเส้นเลือดขณะทำการฉีด (Leakage or Extravasation)
  • ในผู้ป่วยที่ใส่ VP shunt (สายระบายน้ำจากโพรงสมองสู่ช่องท้อง) บางรายอาจต้องได้รับการตั้งค่าเครื่องใหม่โดยแพทย์ศัลยกรรมระบบประสาท
2. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan (Computed Tomography) 128 Slice

ข้อมูลเบื้องต้น

   CT Scan เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเครื่องจะหมุนรอบตัวผู้ป่วยขณะทำการตรวจ การตรวจดังกล่าวเป็นการตรวจพิเศษทางรังสีที่มีความละเอียดสูง ได้ภาพในแนวตัดขวางสามารถเห็นรายละเอียดภายในร่างกายได้อย่างชัดเจน สามารถนำภาพที่ได้ในแนวตัดขวางมาสร้างภาพในแนวต่างๆ ได้ตามต้องการ ปัจจุบันการตรวจด้วยเครื่องมือดังกล่าวจะใช้สำหรับการตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกาย การกระจายตัวของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ การตรวจติดตามผลการรักษา ซึ่งการตรวจในผู้ป่วยมะเร็งจะต้องมีการฉีดสารทึบรังสีร่วมด้วย นอกจากประสิทธิภาพการถ่ายภาพได้อย่างละเอียดแล้ว ยังสามารถใช้เทคโนโลยีในการสร้างภาพสามมิติ และสร้างภาพเสมือนจริงในการตรวจอวัยวะภายใน

การเตรียมตัวตรวจ

  • ในกรณีฉีดสารทึบรังสีท่านต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจ 4-6 ชั่วโมง
  • ตรวจสอบประวัติการแพ้ยา แพ้สารทึบรังสี แพ้อาหาร ภูมิแพ้ และโรคประจำตัว
  • เจาะเลือดเพื่อประเมินค่าการทำงานของไต ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ IV contrast medium ทุกราย
  • ตรวจสอบความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ ในคนไข้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ทุกราย
  • ตรวจสอบประวัติโรคเบาหวาน
  • สำหรับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณช่องท้องส่วนใหญ่อาจต้องมีการทาน Oral contrast solution หรือสวน Rectal contrast solution เพื่อแยกลำไส้ออกจากส่วนต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นกับบริเวณที่ต้องการตรวจ และดุลยพินิจของแพทย์

ข้อบ่งชี้

   เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือทางรังสีวินิจฉัยที่มีประโยชน์ในการประเมินลักษณะทางกายวิภาคของอวัยวะต่างๆ    และในด้านการทำงาน  โดยบางการตรวจอาจมีความจำเป็นที่ต้องฉีดสารทึบแสง (Contrast Media) ร่วมด้วย เพื่อดูการทำงานของเนื้อเยื่อในอวัยวะนั้นๆ และ/หรือลักษณะของหลอดเลือด ปัจจุบันเป็นการตรวจที่นิยมเนื่องจากใช้เวลาในการตรวจน้อย สามารถแสดงภาพได้ในมุมมองต่างๆ และภาพ 3 มิติ ซึ่งมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระยะเวลาทำหัตถการ 30 – 120 นาที
คำแนะนำอื่นๆ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องตรวจ CT Scan  ร่วมกับการฉีดสารทึบรังสี
  • ผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ หอบหืด มีประวัติผื่นขึ้นภายหลังรับประทานอาหารทะเล หรือมีอาการแน่น หายใจไม่ออก และผู้ที่มีประวัติแพ้สารทึบรังสี ต้องแจ้งให้ทีมแพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคไต หรือการทำงานของไตไม่ดี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจ

ข้อจำกัดในการตรวจ  ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการตรวจกรณี

  • สงสัยว่าตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หากไม่ใช่ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน แพทย์จะให้ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ใช้วิธีการอื่นในการตรวจวินิจฉัย เพื่อเลี่ยงไม่ให้รังสีเอกซเรย์ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
  • ในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้ปกครองควรปรึกษาและรับคำแนะนำจากแพทย์ถึงการเตรียมตัวก่อนให้เด็กเข้าเครื่อง CT Scan หากเด็กยังเล็กมาก หรือรู้สึกตื่นกลัวมาก แพทย์จะให้ยาระงับประสาทเพื่อบรรเทาอาการก่อนทำ CT Scan
  • สแกนเมื่อจำเป็น ผู้ป่วยควรทำ CT Scan เมื่อมีเหตุจำเป็นอันสมควรเมื่อผู้ป่วยมีอาการป่วยที่ปรากฏเท่านั้น โดยจะไม่ใช้ CT Scan เพื่อการคัดกรองเบื้องต้น เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจากการได้รับรังสีเอกซเรย์ และเพิ่มความวิตกกังวลเกินจำเป็น
  • ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการตรวจที่ต้องรับประทานสารทึบรังสี หรือสารกัมมันตรังสี

ภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับสารทึบรังสีในการตรวจหลอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ได้แก่

  1. การแพ้สารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจ พบได้น้อยและมักจะไม่รุนแรง เช่น ผื่นคัน
  2. การทำงานของไตลดลงในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติอยู่ก่อนแล้ว
3. การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

ข้อมูลเบื้องต้น

   การตรวจอัลตร้าซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจโดยอาศัยหลักการดูดซับ และสะท้อนของคลื่นเสียงที่แตกต่างกันระหว่างอวัยวะแต่ละชนิด และระหว่างเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ และสะท้อนกลับมายังหัวตรวจ และข้อมูลที่ได้ไปสร้างภาพดิจิทัล การตรวจด้วยเครื่องมือดังกล่าวสามารถเห็นภาพได้ แบบ Real Time และมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ไม่มีการใช้รังสี ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวจะใช้สำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง การตรวจสุขภาพ และการตรวจติดตามโรคหลังการรักษา เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็ง การตรวจต่อมไทรอยด์ การตรวจช่องท้องส่วนบน การตรวจช่องท้องส่วนล่าง การตรวจช่องท้องทั้งหมด การตรวจเต้านม และการตรวจระบบหลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น

การเตรียมตัวตรวจ

  1. การเตรียมตัวส่วนลำคอและอวัยวะส่วนอื่นๆ (Ultrasound Neck / Thyroid and Other)
  • ผู้ป่วยไม่ต้องงดน้ำและอาหาร สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ หากมีโรคประจำตัวให้ทานยาได้ตามปกติ
  • ระหว่างการตรวจอาจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของรังสีแพทย์ เพื่อให้ได้ภาพที่มีคมชัด เหมาะสำหรับการวินิจฉัยโรค
  1. การเตรียมตัวตรวจช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen)
  • ผู้ป่วยควรงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนทำการตรวจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานให้งดยาเบาหวานในมื้อนั้นๆ ด้วย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ให้ทานยาได้ตามปกติแต่ทานน้ำตามในปริมาณน้อย
  • ระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของรังสีแพทย์ โดยจะให้ผู้ป่วยหายใจเข้า/ออก หรือ กลั้นหายใจเป็นครั้งๆ เพื่อให้ได้ภาพการตรวจที่มีคุณภาพและแปลผลได้แม่นยำ หากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการฟังหรือกลั้นหายใจอาจจะจำเป็นต้องมีญาติช่วยเหลือขณะทำการตรวจ หรือเปลี่ยนชนิดการตรวจ ระหว่างการตรวจอาจต้องมีการพลิกตะแคงตัว หรือลุกนั่ง
  1. การเตรียมตัวตรวจช่องท้องทั้งหมด (Ultrasound Whole Abdomen)
  • ผู้ป่วยควรงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนทำการตรวจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานให้งดยาเบาหวานในมื้อนั้น ๆ ด้วย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ให้ทานยาได้ตามปกติแต่ทานน้ำตามในปริมาณน้อย
  • การตรวจจำเป็นต้องให้มีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะด้วย ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องกลั้นปัสสาวะขณะรอเข้าตรวจ เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจอาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเพิ่มในบางกรณี
  • ระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของรังสีแพทย์ โดยจะให้ผู้ป่วยหายใจเข้า/ออก หรือ กลั้นหายใจเป็นครั้งๆ เพื่อให้ได้ภาพการตรวจที่มีคุณภาพและแปลผลได้แม่นยำ หากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการฟังหรือกลั้นหายใจอาจจะจำเป็นต้องมีญาติช่วยเหลือขณะทำการตรวจ หรือเปลี่ยนชนิดการตรวจ ระหว่างการตรวจอาจต้องมีการพลิกตะแคงตัว หรือลุกนั่ง
  1. การเตรียมตัวตรวจระบบทางเดินปัสสาวะและช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound KUB System and Lower Abdomen)
  • ผู้ป่วยไม่ต้องงดน้ำและอาหาร สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ หากมีโรคประจำตัวให้ทานยาได้ตามปกติ
  • การตรวจจำเป็นต้องให้มีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะด้วย ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องกลั้นปัสสาวะขณะรอเข้าตรวจ เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจอาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเพิ่มในบางกรณี
  • ระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของรังสีแพทย์ โดยจะให้ผู้ป่วยหายใจเข้า/ออก หรือ กลั้นหายใจเป็นครั้งๆ เพื่อให้ได้ภาพการตรวจที่มีคุณภาพและแปลผลได้แม่นยำ หากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการฟังหรือกลั้นหายใจอาจจะจำเป็นต้องมีญาติช่วยเหลือขณะทำการตรวจ หรือเปลี่ยนชนิดการตรวจ ระหว่างการตรวจอาจต้องมีการพลิกตะแคงตัว หรือลุกนั่ง

ข้อบ่งชี้

  • ดูความผิดปกติทั่วๆ ไป เช่น นิ่วในไต, นิ่วในถุงน้ำดี, ก้อน เนื้อในตับ เป็นต้น
  • ดูลักษณะ ตำแหน่ง และขนาดของก้อนเนื้องอก
  • ติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของรอยโรค
  • ดูความผิดปกติของเส้นเลือดดำ, เส้นเลือดแดง ว่ามีการอุดตัน, โป่ง หรือขอด เป็นต้น

ระยะเวลาทำหัตถการ  30-60 นาที

คำแนะนำอื่นๆ

   การตรวจอวัยวะในช่องท้องส่วนบนจำเป็นควรงดอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ  เพราะอาหารจะทำให้ถุงน้ำดีหดตัวขับน้ำดีออกมาทำให้เห็นถุงน้ำดีไม่ชัดเจน ในเด็กทารกอาจลดลงเหลือเพียง 3-4 ชั่วโมง หรือในคนที่ตัดถุงน้ำดีไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร

ข้อจำกัดในการตรวจ

  • การตรวจ Ultrasound ไม่สามารถตรวจอวัยวะที่มีลมได้ เช่น ปอด ลำไส้ กระเพาะอาหาร เป็นต้น เพราะอากาศจะไม่สะท้อนคลื่น Ultrasound กลับ ทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณมาสร้างภาพเพื่อการวินิจฉัยได้
  • การตรวจ Ultrasound ไม่สามารถตรวจอวัยวะที่เป็นกระดูกหรือถูกกระดูกบังได้ เพราะกระดูกจะสะท้อนคลื่น Ultrasound กลับ และไม่สามารถทะบุทะลวงลงไปอวัยะต่างๆ ได้
4. การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก BMD (Bone Mineral Density)

ข้อมูลเบื้องต้น

   การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Mineral Density-BMD) เป็นการตรวจหาค่าความหนาแน่นของกระดูกตามส่วนต่าง ๆ ด้วยวิธีการเอกซเรย์พลังงานต่ำ โดยใช้เครื่อง DEXA scan (Dual Energy X-Ray Absorption) ใช้ปริมาณรังสีน้อย มีความปลอดภัย และความแม่นยำสูง ช่วยให้ทราบว่าสุขภาพของกระดูกมีความแข็งแรงระดับใด และมีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

การเตรียมตัวตรวจ
   ไม่ต้องมีการเตรียมตัวหรืองดน้ำและอาหาร

ข้อบ่งชี้

  • ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19
  • ผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรครูมาตอยด์ ภาวะการดูดซึมของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคต่อมไทรอยด์ และโรคต่อมพาราไทรอยด์
  • มีประวัติเคยมีกระดูกสะโพกหัก หรือกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่นๆ จากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษามะเร็ง ฯลฯ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

ระยะเวลาทำหัตถการ 15 - 20 นาที

คำแนะนำอื่นๆ

   ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือภาวะที่มีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง จึงส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง กระดูกแตกหักได้ง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ถ้ากลไกการสร้างและทำลายกระดูกไม่สมดุลกัน เช่น มีการสร้างกระดูกน้อยเกินไป ขาดแคลเซียม หรือกระดูกเกิดการสลายมากเกิน ก็จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ ดังนั้นเราควรที่จะป้องกันหรือรีบรักษาภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น สำหรับวิธีที่นิยมทำกันในปัจจุบัน คือการตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Mineral Density-BMD)

ข้อจำกัดในการตรวจ  ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการตรวจ

  • หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์
  • กรณีที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ใส่ข้อสะโพกเทียม
  • ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการตรวจที่ต้องรับประทานสารทึบรังสี หรือสารกัมมันตรังสี
5. การตรวจเต้านมระบบดิจิตอล (Digital Mammogram)

ข้อมูลเบื้องต้น

   การตรวจเต้านมระบบดิจิตอลหรือแมมโมแกรม เป็นการตรวจหาความผิดปกติ ตรวจหารอยโรคบริเวณเต้านม เช่น การตรวจหาจุดหินปูน ก้อนเนื้อ ถุงน้ำ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณเต้านม ซึ่งในการตรวจจะมีการเอกซเรย์เต้านมในท่าต่างๆ เพื่อให้เห็นเนื้อเยื่อเต้านมหรือรอยโรคต่างๆ ได้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปการตรวจเอกซเรย์เต้านมจะมีการตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านมร่วมด้วย

การเตรียมตัวตรวจ

  • งดทาโลชั่น สารระงับกลิ่นกาย หรือแป้งฝุ่นที่บริเวณหน้าอกและใต้รักแร้ หรือสิ่งอื่นใด บริเวณเต้านม และ รักแร้ทั้งสองข้างเพราะจะมีผลต่อภาพเอกซเรย์
  • ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  • เวลาที่เหมาะสมในการตรวจ คือ ช่วงหลังจากหมดประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่บวมมาก ทำให้ไม่เจ็บ และเป็นช่วงที่สามารถพบความผิดปกติได้ง่าย
  • กรณีที่เปลี่ยนสถานบริการตรวจ ควรนำภาพและผลการตรวจมาใช้ในการเปรียบเทียบด้วย
  • ก่อนทำการตรวจผู้ป่วยจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่หรือรังสีแพทย์ทุกครั้ง หากท่านมีปัญหาเกี่ยวกับเต้านม เช่น คลำพบก้อน หรือมีของเหลวไหลออกจากหัวนมโดยไม่ทราบสาเหตุ เคยผ่าตัดหรือเคยเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านมมาก่อน หรือคลำก้อนได้ที่เต้านม

ข้อบ่งชี้

  • แนะนำให้ทำแมมโมแกรมครั้งแรก เพื่อเป็นพื้นฐานเมื่ออายุ 35 - 40 ปี จะแนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุก 1 ปี เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเต้านม
  • ผู้ที่มีญาติสายตรงในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม (แม่ พี่สาวหรือน้องสาว) ควรได้รับการตรวจแมมโมแกรม
  • สตรีผู้ไม่มีบุตร หรือตั้งครรภ์แรกเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมแล้ว 1 ข้าง พบว่าจะมีโอกาสเป็นอีกข้างสูงถึง 5 เท่า

ระยะเวลาทำหัตถการ

   การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที โดยมีการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม 4 รูป แบ่งเป็นข้างละ 2 รูป ยกเว้นในผู้รับบริการที่เสริมเต้านมจะถ่าย 8 รูป แบ่งเป็นข้างละ 4 รูป โดยเครื่องเอกซเรย์จะกดเต้านมไว้ประมาณ 10 วินาที เพื่อให้เนื้อเยื่อเต้านมกระจายออก ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ ผู้รับบริการจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยในขณะที่ถูกกดเต้านม

ข้อจำกัดในการตรวจ  ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการตรวจ

  • หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการตรวจที่ต้องใช้สารกัมมันตรังสี
6. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ฟันระบบดิจิตอล (Dental CT Scan)

ข้อมูลเบื้องต้น

   เทคโนโลยี Dental CT Scan หรือการถ่ายภาพรังสีฟัน 3 มิติ เป็นเทคโนโลยีทางทันตกรรม ที่ช่วยให้ทันตแพทย์ประเมิน และวางแผนรักษาการฝังรากฟันเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี CT Scan สามารถช่วยกำหนดตำแหน่งที่จะทำการฝังรากฟันเทียมได้อย่างแม่นยำ ทันตแพทย์สามารถตรวจสอบ ประเมินกระดูกขากรรไกรของคนไข้ว่ามีความหนาแน่นพอหรือไม่ที่จะเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม

  • สามารถมองเห็นได้ 3 มิติ คือ ทั้งภาพตัดแนวแกนกลางหรือบน-ล่าง ภาพตัดแนวขวางและภาพแนวกว้างทั้งหมด
  • สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดของกระดูกทั้งในเชิงคุณภาพ (Quality) และปริมาณ (Quantity)
  • ทำให้ได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำและเที่ยงตรงทางด้านกายวิภาคของคนไข้ เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากเครื่องถ่ายภาพรังสีช่องปากในระบบ 3 มิติ หรือ Dental CT Scan จะไม่เกิดบิดเบี้ยวเลย
  • ช่วยในขั้นตอนการวางแผนการรักษาได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น บริเวณที่จะทำรากเทียมมีความหนาของกระดูกไม่เพียงพอ จึงต้องเพิ่มขั้นตอนการปลูกกระดูกในบริเวณที่จะฝังรากเทียมให้มีขนาดที่ เหมาะสมก่อนการฝังรากเทียม
  • ช่วยในการทำแบบจำลอง (Surgical stent) ที่จะวางตำแหน่งรากเทียมในขั้นตอนการผ่าตัดปลูกรากเทียม

การเตรียมตัวตรวจ
   ไม่ต้องมีการเตรียมตัวหรืองดน้ำและอาหาร

ข้อบ่งชี้

  • เพื่อประเมินฟันคุด ฟันฝัง หรือพยาธิสภาพ รวมถึงความสัมพันธ์กับอวัยวะอื่นซึ่งภาพถ่ายรังสีปกติให้ข้อมูลได้ไม่ครบภ้วน และเพื่อวิเคราะห์และวางแผนในการรักษา
  • เพื่อวางแผนการรักษา และใช้ติดตามผลการรักษาบริเวณที่อาจมีความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดฟัน
  • ช่วยในการทำแบบจำลอง (Surgical stent) ที่จะวางตำแหน่งรากเทียมในขั้นตอนการผ่าตัดปลูกรากเทียม
ระยะเวลาทำหัตถการ : 15 – 30 นาที
ข้อจำกัดในการตรวจ  ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการตรวจ
  • หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการตรวจโดยใช้สารกัมมันตรังสี
7. การตรวจเอกซเรย์ฟันชนิดทั้งปากระบบดิจิตอล (Dental Panoramic)

ข้อมูลเบื้องต้น
   เป็นการตรวจทางรังสีของฟันและช่องปาก โดยการถ่ายภาพทางรังสีฟันครบทั้ง 32 ซี่ เพื่อดูความผิดปกติของฟันและช่องปาก

การเตรียมตัวตรวจ
   ไม่ต้องมีการเตรียมตัวหรืองดน้ำและอาหาร

ข้อบ่งชี้

  • การเอกซเรย์ฟันเพื่อถอนฟันหรือผ่าฟันคุด
  • การเอกซเรย์เพื่อตรวจดูรอยผุของฟันด้านประชิด
  • การเอกซเรย์ฟันเพื่อการรักษารากฟัน
  • การเอกเรย์ฟันเพื่อการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ
  • การเอกซเรย์ฟันเพื่อการจัดฟัน
  • เพื่อวิเคราะห์ลักษณะปกติ ผิดปกติ การมีอยู่ และพยาธิสภาพบริเวณฟัน รากฟัน อวัยวะปริทันต์ กระดูกขากรรไกร รวมไปถึงข้อต่อขากรรไกร โพรงอากาศขากรรไกรบน
  • เพื่อวิเคราะห์การเอียงตัวของฟันและรากฟัน
ระยะเวลาทำหัตถการ : 10 – 15 นาที
ข้อจำกัดในการตรวจ 
ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการตรวจ
  • หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการตรวจโดยใช้สารกัมมันตรังสี
8. การตรวจเอกซเรย์ทั่วไประบบดิจิตอล (Digital General x-ray)

ข้อมูลเบื้องต้น

   เครื่องเอกซเรย์ถ่ายภาพรังสีทั่วไประบบดิจิทัล สามารถเอกซเรย์ได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น กระโหลกศีรษะ ทรวงอก ช่องท้อง สะโพก กระดูกรยางค์ส่วนบนและส่วนล่าง ภาพถ่ายเอกซเรย์จะเป็นภาพดิจิทัล ที่มีความละเอียดสูง สามารถปรับความขาวความดำ ความคมชัด และขยายภาพ เพื่อหารอยโรคได้ตามต้องการ ทำให้แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาได้อย่าง ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ การสร้างภาพดิจิทัลจะใช้เทคโนโลยีการแปลงสัญญาณภาพของ Flat Panel Detector ที่ให้รายละเอียดของภาพสูง ร่วมกับระบบควบคุมปริมาณรังสี แบบอัตโนมัติ (Automatic exposure control; AEC) เพื่อให้การเอกซเรย์ผู้ป่วยเป็นไปอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีที่เหมาะสมและได้ภาพที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการวินิจฉัยโรคต่อไป

การเตรียมตัวตรวจ

  • ไม่ต้องมีการเตรียมตัวหรืองดน้ำและอาหาร
  • ไม่ควรนำเครื่องประดับหรือโลหะติดตัวเข้าไป
  • ควรสวมใส่เสื้อผ้าสบายๆ เพราะในการเอกซเรย์บางชนิดผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการเปลี่ยนเสื้อผ้าตามที่โรงพยาบาลกำหนดไว้ เมื่อเข้าสู่การเอกซเรย์ให้จัดท่าทางของร่างกายตามคำสั่งของผู้เชี่ยวชาญ ผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องอยู่นิ่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนที่สุด

ข้อบ่งชี้ :  มีข้อบ่งชี้ตามการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ระยะเวลาทำหัตถการ : 15-30 นาที
ข้อจำกัดในการตรวจ  ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการตรวจ

  • หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการตรวจที่ต้องรับประทานสารทึบรังสี หรือสารกัมมันตรังสี

วันเวลาทำการ
แผนกรังสีวิทยา  ชั้น 1 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
วันจันทร์ - วันอาทิตย์  24 ชั่วโมง โทรศัพท์ : 02-109-9111 ต่อ 10136, 10137 
ศูนย์ MRI ชั้น 1 ตึก MRI โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
วันจันทร์ - วันอาทิตย์  เวลา 08:00 - 23:00 น. โทรศัพท์ : 02-109-9111 ต่อ 20100, 20101, 20102

ติดต่อสอบถาม
Call Center: 1745

 

บริการ & หมอเฉพาะทาง

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.