การดูแลปฏิบัติตัวในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือ การตัดผิวข้อที่เสื่อมออก แล้วใส่วัสดุที่เป็นโลหะบริเวณผิวข้อ กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้งและกระดูกลูกสะบ้า รวมถึงการใส่วัสดุที่คล้ายพลาสติก บริเวณข้อต่อระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง โดยที่เอ็นเยื่อหุ้มข้อ และกล้ามเนื้อยังอยู่เหมือนเดิม
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมควรมีการฝึกบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อน่องอย่างสม่ำเสมอ และฝึกการเหยียดงอข้อเข่าอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปการเหยียดงอข้อเข่ามักเปลี่ยนแปลงได้มากในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังจากการผ่าตัด ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาที่ควรฝึกบริหารอย่างเต็มที่ และควรงอข้อเข่าได้อย่างน้อย 100 องศา ผู้ป่วยทุกคนจะรู้สึกว่าตึงและปวดข้อเข่าขณะพยายามงอข้อเข่า แต่พบว่าเมื่อผู้ป่วยปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้วอาการปวดและตึงมักน้อยลงจนหายไป เมื่อข้อเข่าเริ่มเข้าสู่ภาวะคงที่แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 6 เดือน ข้อเทียมจะมีความแข็งแรงเสมือนว่าเป็นข้อเข่าของผู้ป่วยเอง จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าข้อจะหลุดออกมา ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้ ขึ้นลงบันไดได้ สามารถออกกำลังกายเช่น เดินเร็วๆ รำมวยจีน เล่นกีฬาเช่น ว่ายน้ำ ตีกอล์ฟ ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเช่นการวิ่งเร็ว การกระโดดอย่างต่อเนื่อง การเล่นกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น เทนนิส เป็นต้น
ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการตรวจรักษา และการออกกำลังกาย
- แผลผ่าตัดมีเลือดออกหรือซึม
- ปวดเข่ามาก มีอาการเข่าบวมแดงมาก และหรือมีไข้
- น่องบวมและปวดมาก
การปฏิบัติตัวเพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดที่มากเกินไป
- รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป
- หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่เร็วเกินไป รวมถึงการหมุนตัวที่รวดเร็ว
- หลีกเลี่ยงการงอเข่ามากๆ เช่น คุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งกับพื้น
- ระวังการลื่นหกล้ม
- การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและน่องอย่างสม่ำเสมอ
ท่าบริหารกล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อน่อง และฝึกการเหยียดงอข้อเข่า
การบริหารควรทำท่าละ 10 - 20 ครั้งต่อเซต และทำวันละ 2 เซต หลังการบริหารอาจประคบด้วยความเย็นเพื่อลดอาการปวดที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริหาร
ท่าที่ 1
- นอนหงาย โดยมีผ้าขนหนูม้วนวางรองใต้เข่า
- ยกส้นเท้าขึ้นจากพื้นจนกระทั่งเข่าตรง กดเข่าลงไปกับม้วนผ้าขนหนู

ท่าที่ 2
- นอนหงาย โดยมีผ้าขนหนูม้วนวางรองใต้ข้อเท้า
- ขาเหยียดตรง กดส้นเท้าลงไปกับม้วนผ้าขนหนู จนรู้สึกตึงกล้ามเนื้อขาด้านหลัง

ท่าที่ 3
- นอนหงาย ขาเหยียดตรง
- ลากส้นเท้ามายังสะโพก โดยให้เข่างอจนรู้สึกตึง เกร็งค้างไว้ประมาณ 5 วินาที

ท่าที่ 4
- นั่งห้อยขา ให้เท้าวางบนพื้น
- ยกขาขึ้นให้เข่าเหยียดตรงแล้วเกร็งค้างไว้ 5 - 10 วินาที

ท่าที่ 5
- นั่งห้อยขาให้เท้าเหยียบบนผ้าที่วางบนพื้นเรียบ
- ลากเท้าเข้าหาตัว โดยให้เข่างอจนรู้สึกตึง แล้วค่อยๆเหยียดขาออกตามเดิม

ท่าที่ 6
- ยืนจับโต๊ะ
- ยกปลายเท้าขึ้นทั้ง 2 ข้าง จนรู้สึกเกร็งกล้ามเนื้อด้านหน้าขา

ท่าที่ 7
- ยืนจับโต๊ะ
- เขย่งปลายเท้าขึ้นทั้ง 2 ข้างจนสุด

วันเวลาทำการ
เปิดทุกวันทำการ วันจันทร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08:00 - 20:00 น.
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ชั้น 6 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อสอบถาม
โทรศัพท์ : 02-109-9111 ต่อ 10627, 10628
Call Center 1745