โรคจอประสาทตาเสื่อม
โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของบริเวณจุดรับภาพชัดของจอตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ หากพบในผู้มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป จะเรียกว่า "โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ" (Age related Macular degeneration) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็น โดยจะทำให้สูญเสียการมองเห็นเฉพาะภาพตรงส่วนกลาง โดยที่ภาพด้านข้างของการมองเห็นยังดีอยู่ เช่น คุณอาจเห็นขอบของนาฬิกา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเวลาอะไร
ลักษณะอาการ และสัญญาณเตือน
อาการแสดงแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน และยากต่อคนไข้ที่จะสังเกตความผิดปกติในการมองเห็นเองตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดี คนไข้อาจไม่สังเกตถึงความผิดปกติไปหลายปี แต่ถ้ามีจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นในตาทั้ง 2 ข้าง คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปกติในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว เช่น
- มองเห็นไม่ค่อยชัด
- ภาพที่เห็นบิดเบี้ยว
- เห็นสีผิดเพี้ยน
- มีจุดดำกลางภาพ
- มองในที่สว่างไม่ชัด/แพ้แสง
การวินิฉัยโดยจักษุแพทย์สาขาจอประสาทตา
จักษุแพทย์สาขาจอประสาทตาจะขยายรูม่านตาและใช้กล้องส่องตรวจจอประสาทตาและจุดรับภาพโดยละเอียดเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และจะส่งตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์พิเศษซึ่งทางโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มีเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยแม่นยำ คือ เครื่องสแกนจอประสาทตา (Optical Coherence Tomography) หรือ OCT ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะวัดความหนาของจอตา และยังเห็นพยาธิสภาพใต้ชั้นจอตาได้อย่างละเอียดและชัดเจน โดยผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด หรือได้รับอันตรายใดๆ จากการตรวจนี้ นอกจากนี้เครื่อง OCT ยังใช้ติดตามการรักษาได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
การเตรียมตัว
การตรวจตาเพื่อคัดกรองก่อนผ่าตัดต้อกระจก จำเป็นต้องขยายรูม่านตา ซึ่งจะส่งผลให้ตาพร่า เป็นเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง จึงควรพาญาติมาด้วยเพื่อเดินทางกลับ และผู้ป่วยควรนำยาที่ใช้เป็นประจำมาด้วยทุกครั้ง
การรักษา
การรักษาจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุในปัจจุบันใช้การติดตามอาการ ความเปลี่ยนแปลงของโรคอย่างใกล้ชิด และถ้ามีอาการรุนแรง อาจพิจารณาการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ หรือการฉีดยาเข้าวุ้นในตา โดยจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านจอตา
การป้องกัน
- ตรวจเช็กสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวมีภาวะจอประสาทตาเสื่อม
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการได้รับแสง หรือรังสีอัลตราไวโอเลต เป็นระยะเวลานาน
- เลือกกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้ และกินวิตามินเสริม
วันเวลาทำการ
เปิดทำการทุกวันจันทร์ - อาทิตย์ เวลา 08:00 - 20:00 น.
ศูนย์ตาเฉพาะทาง ชั้น 2 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อสอบถาม
โทรศัพท์ : 02-109-9111 ต่อ 10221, 10222
Call Center : 1745